ทอท. ลั่นผลสอบข้อเท็จจริงเหตุกำแพงอาคาร เซอร์วิส ฮอลล์ รับกรุ๊ปทัวร์ สนามบินดอนเมือง ถล่ม ไม่มีคนผิด ซ่อมเรียบร้อย เตรียมเปิดให้ใช้งานพรุ่งนี้ (8 ก.พ. 66)
วันที่ 6 ก.พ. 2566 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า จากกรณีกำแพงอาคาร Service Hall หรือ เซอร์วิส ฮอลล์ ซึ่งเป็นอาคารรับผู้โดยสารที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ สนามบินดอนเมือง พังถล่มเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 65 และทางกระทรวงคมนาคม มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสวบสวนข้อเท็จจริง ที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานนั้น
ขณะนี้ผลสอบสรุปว่า ไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจนเป็นเหตุให้อาคารถล่ม เนื่องจากอาคารได้มีการดำเนินการตามแบบที่ได้มีการออกแบบ และเมื่อมีการก่อสร้างก็มีการดำเนินการ ส่วนการตรวจรับงานก็ดำเนินการตามหลักวิศวกรรมทุกประการ และเมื่อเกิดเหตุการณ์อาคารก็ยังอยู่ในการประกัน ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของ บริษัท เพาเวอร์ ไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาที่ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าว และขณะนี้ได้ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงให้มีความแข็งแรงแล้วเสร็จ พร้อมที่จะเปิดให้ใช้งานในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ. 66)
อย่างไรก็ตาม ในการซ่อมแซมปรับปรุงอาคาร ทางบริษัทผู้รับเหมาดำเนินการและเป็นผู้รับผิดชอบในการซ่อมแซมทั้งหมด พร้อมเสริมตัวรับคานเพิ่มเติม ทำผนัง และรางน้ำใหม่ มูลค่ารวมกว่า 12.9 ล้านบาท เนื่องจากยังอยู่ในระยะประกันที่จะครอบคลุมถึงเดือน ส.ค. 66
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายได้มีข้อสงสัยว่าโครงสร้างอาคารซึ่งเป็นเหล็กไม่มีเสาเข็มรองรับอาคารในเรื่องดังกล่าวนั้น ขอชี้แจงว่า แม้จะมีการออกแบบเป็นโครงสร้างเหล็กแต่การก่อสร้าง อยู่บนฐานรากและเสาเข็มของอาคารที่จอดรถเดิม ดังนั้นในเรื่องของการรองรับน้ำหนักไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันทางสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสภาสถาปนิก ได้มีการตรวจรับทดสอบน้ำหนักของอาคาร พบว่าการออกแบบได้มีการคำนวณพื้นที่ใช้สอยอาคารกว่า 800 ตารางเมตร ให้รองรับได้ 500 กิโลกรัม/ตารางเมตร ถึง 900 กิโลกรัม/ตารางเมตร หรือในช่วงที่มีกรุ๊ปทัวร์จำนวนมากจะสามารถรองรับได้ถึง 3,000 คน นอกจากนั้น ทอท. ไม่ได้ขึ้นบัญชีดำ กับบริษัทดังกล่าว เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ละทิ้งงาน เมื่อเกิดปัญหาก็เข้ามาแก้ไขและปรับปรุงให้กลับมาอยู่ในสภาพใช้งานได้
ด้าน นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการสนามบินดอนเมือง เปิดเผยว่า อาคาร Service Hall แห่งนี้เตรียมเปิดให้บริการผู้โดยสารในวันที่ 8 ก.พ. 66 ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถรับนักท่องเที่ยว (ATTA) ติดอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ด้านทิศเหนือของ สนามบินดอนเมืองรองรับผู้โดยสารได้ 3,000 คน ซึ่งความสะดวกในอาคารครบครันไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ที่นั่งพักคอย 800 ที่นั่ง จุดชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า จุดแพ็กสัมภาระ รวมถึงจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแห่งใหม่ (VAT Refund)
นายการันต์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมของปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินดอนเมืองในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 70,000 คน/วัน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 17,000 คน/วัน และผู้โดยสารภายในประเทศ 53,000 คน/วัน คิดเป็นปริมาณการฟื้นตัว 70% เมื่อเทียบกับช่วงปี 62 ซึ่งมีผู้โดยสารผ่านสนามบินดอนเมืองราว 110,000 คน/วัน ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 450 เที่ยวบิน/วัน แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 130 เที่ยวบิน/วัน และ เที่ยวบินในประเทศ 320 เที่ยวบิน/วัน คิดเป็นการฟื้นตัวอยู่ที่เกือบ 70% เช่นเดียวกับปริมาณของผู้โดยสาร
นายการันต์ กล่าวถึง การเดินทางเข้ามาของกรุ๊ปทัวร์จีน ภายหลังจากทางการจีนจะเริ่มอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวแบบหมู่คณะว่า คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารชาวจีนในภาพรวมที่เดินทางผ่านสนามบินดอนเมืองในเดือน ก.พ.-มี.ค. 66 จะอยู่ที่ 54,000 คน/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 66 ซึ่งอยู่ที่เพียง 22,000 คน/วัน
ส่วนด้าน รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การปรับปรุงอาคาร Service Hall นั้น มีความแข็งแรงและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ภายใต้การกำกับดูแลของ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิศวกรวิชาชีพที่เป็นผู้รับรองงานแก้ไขซ่อมแซม จาก 3 หน่วยงาน อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) โดยการปรับปรุงเน้นไปที่การเพิ่มความแข็งแรงของวัสดุก่อสร้าง และการลดน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร รองรับน้ำหนักได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ 500 กิโลกรัม/ตารางเมตร
ส่วนประเด็นผนังกำแพงที่เคยพังเสียหายนั้น มั่นใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีก เนื่องจากมีการเสริมกำแพงด้วยผนังสมาร์ทบอร์ด และ เสริมความแข็งแรงด้วยฉนวนใยแก้ว (Micro Fiber) ตลอดจนการเสริมคานรับน้ำหนักและปรับรางระบายน้ำ เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรงเพื่อรับมือพายุฝนที่รุนแรงในอนาคต.