ตรุษจีนเงินสะพัด 4.5 หมื่นล้านบาท ผู้บริโภคบ่นของแพงขึ้น! ซื้อน้อยลง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตรุษจีนเงินสะพัด 4.5 หมื่นล้านบาท ผู้บริโภคบ่นของแพงขึ้น! ซื้อน้อยลง

Date Time: 20 ม.ค. 2566 05:15 น.

Summary

  • ตรุษจีนปีนี้สุดคึก เงินสะพัดกว่า 4.5 หมื่นล้าน สูงสุดรอบ 3 ปี ผู้บริโภคบ่นอุบของแพงขึ้น ทำให้ต้องซื้อน้อยลง ขณะที่ผู้ประกอบการมองปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน เตรียมของมาขายมากขึ้น

Latest

ลุ้นระทึกจองตั๋วเครื่องบิน 5 หมื่นที่นั่ง ลดราคา30%ลดค่าไฟฟ้าเหลือ4.15บาท

ตรุษจีนปีนี้สุดคึก เงินสะพัดกว่า 4.5 หมื่นล้าน สูงสุดรอบ 3 ปี ผู้บริโภคบ่นอุบของแพงขึ้น ทำให้ต้องซื้อน้อยลง ขณะที่ผู้ประกอบการมองปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน เตรียมของมาขายมากขึ้น ส่วนการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ช่วยท่องเที่ยว–เศรษฐกิจฟื้น เมินโควิดระบาดด้าน พาณิชย์เผยปีนี้เครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีนราคาขึ้นไม่มาก หลังชาวบ้านรัดเข็มขัดใช้จ่าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจผู้ประกอบการและประชาชนช่วงตรุษจีนปี 66 ว่า คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 45,017.17 ล้านบาท สูงสุดรอบ 3 ปี นับจากปี 64 ที่มีมูลค่า 44,939.66 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.6% จากปี 65 ที่มีมูลค่า 39,627.79 ล้านบาท ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับจากปี 63 ที่ติดลบ 1.53%, ปี 64 ติดลบ 21.85% และปี 65 ติดลบ 11.82% ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการใช้จ่าย ผู้ตอบมากถึง 41.3% ระบุว่า การใช้จ่ายไม่เปลี่ยนจากปีก่อน อีก 38.4% บอกเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น รายได้มากขึ้น ได้โบนัสมากขึ้น, มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ธุรกิจได้กำไรมากขึ้นและอีก 20.3% บอกใช้จ่ายลดลง เพราะมีหนี้มากขึ้น โดยผู้ที่มีหนี้มากกว่ารายได้ คือ กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000-20,000 บาท และยังให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจแย่ลง รายได้ลดลง ต้องลดค่าใช้จ่าย

เมื่อถามถึงราคาของเซ่นไหว้ปีนี้มากถึง 36.6% บอกของแพงขึ้นมาก จึงลดจำนวนชิ้น ซื้อเฉพาะที่จำเป็น ซื้อของคุณภาพลดลงและใช้ของที่เหลือจากปีก่อน ขณะที่ 28.4% บอกของแพงขึ้นน้อย, 32.8% บอกราคาไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่ใช้จ่ายช่วงตรุษจีนมากถึง 56.8% ใช้เงินออม, 22.4% ใช้เงินเดือน รายได้ปกติ, 15.0% ใช้เงินโบนัส รายได้พิเศษ อีก 5.0% ใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐและอื่นๆ 0.8% สำหรับการให้เงินแต๊ะเอียนั้น มากถึง 55.6% คาดว่าจะได้รับ และอีก 44.4% ไม่ได้รับ ขณะที่ผู้ให้แต๊ะเอียนั้น ส่วนใหญ่กว่า 80% บอกให้เท่ากับปีก่อน และมองว่าเศรษฐกิจมีผลกับการให้แต๊ะเอียปานกลางถึงน้อยที่สุด “การจับจ่ายกลับมาตั้งแต่การซื้อของให้ตัวเอง ให้คนอื่น ของไหว้ อั่งเปาและเดินทางท่องเที่ยว แต่การจับจ่ายใช้สอยยังเป็นรูปตัว K การฟื้นตัวเกิดจากคนชั้นกลางขึ้นไป ที่พร้อมจับจ่ายมากขึ้น ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อย ยังระมัดระวังใช้จ่าย”

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์ฯยังได้ถามถึงความกังวลจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน พบว่า อันดับแรก คือ ไม่มีมาตรการป้องกัน/รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ของภาครัฐ รองลงมาคือ ความเสื่อมโทรมของสถานที่ท่องเที่ยว และการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ ส่วนผลดี คือ ทำให้การท่องเที่ยวคึกคักขึ้น มีการจ้างงาน การค้า การใช้จ่าย การลงทุน การเกษตร และเศรษฐกิจดีขึ้น “ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า การเข้ามาของคนจีน ทำให้โควิดระบาดมากขึ้นหรือคนไทยติดโควิดมากขึ้น แต่คนไทยก็ยังกังวลโควิดจากจีน ต้องดูว่าการที่คนจีนเข้ามามากๆ จะมีผลต่อการระบาดในประเทศหรือไม่ ซึ่งจะชัดเจนเดือนก.พ.-มี.ค.นี้ ถ้าไม่มีโควิดรุนแรง การท่องเที่ยวไทยจะมากขึ้น”

สำหรับทัศนะของผู้ประกอบการพบว่า บรรยากาศตรุษจีนปีนี้คึกคักมากกว่าปีก่อน ผู้บริโภคซื้อของเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น ผู้ประกอบการเตรียมของขายมากขึ้นด้วย ขณะที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกังวล กับการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนนั้น เพราะมองว่าจะทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานราคาเครื่องเซ่นไหว้เทศกาลตรุษจีนปี 66 ที่ตลาดเยาวราช เมื่อ 19 ม.ค.66 ก่อนวันจ่าย 2 วัน พบว่า บรรยากาศการจับจ่ายไม่คึกคัก ขณะที่ราคาสินค้าใกล้เคียงกับปีก่อน เช่น ไก่ต้มตัวละ 280-300 บาท ไก่บ้านตัวละ 500- 550 บาท เป็ดพะโล้ตัวละ 400-480 บาท เป็ดย่างตัวละ 500-550 บาท หมูบะแซ ชิ้นละ 180- 220 บาท เป็นต้น นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เครื่องเซ่นไหว้ปีนี้ราคาใกล้เคียงกับปีก่อน ไม่ได้ปรับขึ้นมาแบบมีนัยสำคัญ เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ทำให้ประชาชนใช้สอยเท่าที่จำเป็น และพ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถขึ้นราคาได้ เกรงจะกระทบยอดขาย ขณะที่กรมได้ติดตามต้นทุนราคาสินค้า เพื่อให้จำหน่ายตามต้นทุนและกลไกตลาดที่แท้จริง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ