เดินหน้าขึ้นภาษีความหวาน ตามปริมาณน้ำตาลสูงสุด 5 บาทต่อลิตรเริ่ม 1 เม.ย.นี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เดินหน้าขึ้นภาษีความหวาน ตามปริมาณน้ำตาลสูงสุด 5 บาทต่อลิตรเริ่ม 1 เม.ย.นี้

Date Time: 7 ม.ค. 2566 06:01 น.

Summary

  • “สรรพสามิต” เดินหน้าลุยปรับขึ้นอัตราภาษีความหวาน เฟส 3 ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นขั้นบันได ดีเดย์ 1 เม.ย.66 เก็บตามปริมาณน้ำตาลสูงสุด 5 บาทต่อลิตร หลังยืดเวลามา 6 เดือน

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“สรรพสามิต” เดินหน้าลุยปรับขึ้นอัตราภาษีความหวาน เฟส 3 ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นขั้นบันได ดีเดย์ 1 เม.ย.66 เก็บตามปริมาณน้ำตาลสูงสุด 5 บาทต่อลิตร หลังยืดเวลามา 6 เดือน ด้าน สศค.เปิดตัวเลขจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 424,738 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 15%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2566 สรรพสามิตจะเดินหน้าเก็บภาษีความหวานตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากที่ได้เลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 3 ตามปริมาณน้ำตาลออกไป 6 เดือน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ 1 ต.ค.65 - 31 มี.ค.66 ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 สรรพสามิตจะปรับขึ้นภาษีความหวาน ระยะที่ 3 ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ภาษีความหวาน กฎหมายระบุไว้ให้เป็นการเก็บภาษีตามขั้นบันได โดยปัจจุบันเก็บอัตราภาษีช่วงระยะที่ 2 ได้แก่ ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.1 บาทต่อลิตร, ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร ซึ่งจะจัดเก็บไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.66 และตั้งแต่ 1 เม.ย.66 จะจัดเก็บภาษีความหวาน ระยะที่ 3 มีรายละเอียด ดังนี้ ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร ส่วนระยะที่ 4 จะจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.68 เป็นต้นไป รายละเอียดการจัดเก็บอยู่ระหว่างพิจารณา

“การจัดเก็บภาษีความหวานนั้น ไม่ได้ทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก แต่วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชน เชื่อว่าจะช่วยลด
ผู้ป่วยโรคเบาหวานลงได้ด้วย”

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณปี 66 (ต.ค.-พ.ย. 65) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 424,738 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 55,418 ล้านบาท หรือ 15% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.5% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ 1.การนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2.รัฐวิสาหกิจ มีการนำส่งรายได้เหลื่อมปีจากงบประมาณก่อนหน้านี้ 3. กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่ม ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ 4. กรมศุลกากร มีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง

นายพรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณปี 66 (ต.ค.-พ.ย.65) มีรายได้รวมกันอยู่ที่ 378,656 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 26,534 ล้านบาท หรือ 7.5% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 12,180 ล้านบาท หรือ 3.3% โดยกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 275,652 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 24,399 ล้านบาท หรือ 9.7% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 16,138 ล้านบาท หรือ 6.2% ส่วนกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 75,639 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 8,206 ล้านบาท หรือ -9.8% และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 13,423 ล้านบาท หรือ -15.1% และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 27,365 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 10,341 ล้านบาท หรือ 60.7% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 9,465 ล้านบาท หรือ 52.9%

สำหรับรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ อยู่ที่ 54,716 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 11,408 ล้านบาท หรือ 26.3% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 17,141 ล้านบาท หรือ 45.6% ส่วนหน่วยงานอื่น นำส่งรายได้ 46,186 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 27,483 ล้านบาท หรือ 146.9% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 25,628 ล้านบาท หรือ 124.7%

สำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดนั้น รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 415,312 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 760,611 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 80,394 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย.65 มีทั้งสิ้น 296,305 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ