ปีใหม่คึกคักใช้จ่ายพุ่งแสนล้าน คนไทยเลิกกลัวโควิดลุย “เลี้ยงสังสรรค์-ทำบุญ”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปีใหม่คึกคักใช้จ่ายพุ่งแสนล้าน คนไทยเลิกกลัวโควิดลุย “เลี้ยงสังสรรค์-ทำบุญ”

Date Time: 23 ธ.ค. 2565 06:50 น.

Summary

  • ม.หอการค้าไทย เผยปีใหม่ 66 สุดคึก หลังคนเมินโควิดหันใช้จ่ายกระฉูด ดันยอดใช้จ่ายอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท สูงสุดรอบ 3 ปี โต 20% สูงสุด 17 ปี ของขวัญจากรัฐบาลที่อยากได้มากสุด คือ ปราบทุจริต

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ม.หอการค้าไทย เผยปีใหม่ 66 สุดคึก หลังคนเมินโควิดหันใช้จ่ายกระฉูด ดันยอดใช้จ่ายอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท สูงสุดรอบ 3 ปี โต 20% สูงสุด 17 ปี ของขวัญจากรัฐบาลที่อยากได้มากสุด คือ ปราบทุจริต กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว ใช้คะแนนรัฐ 6.2 เต็ม 10 ส่วนขึ้นค่าไฟ เอกชนแบกรับได้ไม่เกิน 3 เดือน

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ส่วนใหญ่มากถึง 90.8% ตอบว่า บรรยากาศคึกคักพอๆกับปีที่แล้วถึงคึกคักมากกว่า โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 103,039 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% จากปี 65 ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่เกิน 100,000 ล้านบาทในรอบ 3 ปี และสูงสุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 64 แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่มียอดใช้จ่าย 135,279 ล้านบาทในปี 62 และ 137,809 ล้านบาทในปี 63 ส่วนอัตราการขยายตัวที่ 20.1% สูงสุดในรอบ 17 ปีนับจากเริ่มมีการสำรวจปี 50 โดยแบ่งเป็นใช้เลี้ยงสังสรรค์ 11,732.54 ล้านบาท ทำบุญ 8,266.84 ล้านบาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 18,943.80 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 2,096.28 ล้านบาท ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 1,562.20 ล้านบาท ท่องเที่ยวในประเทศ 57,491.80 ล้านบาท และท่องเที่ยวต่างประเทศ 2,945.66 ล้านบาท

“จากผลสำรวจ โควิดไม่มีผลกระทบแล้ว เพราะผู้ตอบมากถึง 80.4% บอกว่าไม่มีผลกระทบต่อการใช้จ่าย จึงเห็นภาพการออกนอกพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกลับบ้าน ส่งผลให้มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาจากปีก่อน โดยการใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 10,262 ล้านบาท จากปี 65 อยู่ที่ 5,445.28 ล้านบาท และเที่ยวต่างประเทศ 27,168.75 ล้านบาท เพิ่มจาก 21,508.32 ล้านบาท”

เมื่อถามว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและปัญหาหนี้สินมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายช่วงปีใหม่มากน้อยเพียงใด ในส่วนภาวะเศรษฐกิจ ผู้ตอบ 54.4% ตอบมีผล อีก 45.6% ตอบไม่มีผล ส่วนหนี้สินผู้ตอบ 55.6% ตอบมีผล และอีก 44.4% ตอบไม่มีผล ส่วนแหล่งที่มาของเงินใช้จ่าย ส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ ตามด้วยเงินออม, เงินช่วยเหลือจากรัฐ เช่น เที่ยวด้วยกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โบนัส/รายได้พิเศษ และอื่นๆ เช่น ถูกรางวัล เสี่ยงโชค ขณะที่ของขวัญที่ต้องการจากรัฐมากที่สุด คือ ปฏิรูปภาครัฐ ปราบทุจริต รัฐบาลควรโปร่งใสตรวจสอบได้ ตามด้วยมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ, ลดภาระค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน เพิ่มจ้างงาน ค่าแรง, ลดภาษี

“สิ่งที่อยากได้มากอันดับ 1 คือ การปราบทุจริต แสดงให้เห็นว่าประชาชน ได้ยิน ได้เห็น หรือสัมผัสได้ถึงการทุจริต ในปี 66 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ จึงกลับมาสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศอีกครั้ง หลังจากหยุดไปนานหลายปี ส่วนการให้คะแนนการแก้ไขของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา ภาพรวมอยู่ที่ 6.2 คะแนนจากเต็ม 10”

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า บรรยากาศปีใหม่ปี 66 คึกคัก และสดใสทั่วไทย โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 1 จะสดใสมากขึ้น จากผลของมาตรการช้อปดีมีคืนที่ภาครัฐคาดจะมีคนใช้จ่าย 60,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินจากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวอีกราว 4,000 ล้านบาท จะทำให้มีเงินสะพัดในภาคท่องเที่ยวอีก 10,000-20,000 ล้านบาท น่าจะทำให้ไตรมาส 1 ปี 66 มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท มีผลทำให้เศรษฐกิจโตได้อีก 0.7-1.0% มาอยู่ที่ขยายตัว 3.5% เป็นอย่างน้อย

สำหรับการขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงปีใหม่นั้น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีกราว 20% จากหน่วยละ 4 บาทกว่ามาเป็น 6 บาทกว่า จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะขนาดเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการ มี 2 ทางเลือก คือ ขึ้นราคาสินค้า และทำให้เงินเฟ้อขยับสูงขึ้น หรือถ้าไม่ขึ้นราคาสินค้า สภาพคล่องจะน้อยลงเกิดหนี้เสีย และลดการจ้างงาน ดังนั้น ราคาพลังงานยังเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องประคับ ประคองในช่วงไตรมาสแรก “ขึ้นค่าไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เชื่อว่าภาคธุรกิจแบกรับไม่ได้ หรืออาจแบกรับได้อีกเพียง 1-3 เดือนเท่านั้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ