จับตา” กกพ.” เร่งเคาะตัวเลขค่าเอฟทีงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย.66) เบื้องต้นอาจตรึง 4.72 บาทต่อหน่วยให้เฉพาะประเภทบ้านที่อยู่อาศัยใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น ด้าน “ส.อ.ท.” วอนอีกครั้งตรึงค่าไฟคงเดิม หวั่นดันต้นทุนเพิ่มต้องปรับราคาสินค้า 5-12% สกัดเงินลงทุนเข้าไทย จี้รัฐปรับโครงสร้างขุดรากถอนโคนต้นตอไฟแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสัปดาห์นี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะสรุปและประกาศตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนม.ค.-เม.ย.2566 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเบื้องต้นค่าไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จะยังคงจ่ายค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าฐานรวมในอัตราเดิมที่เฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วย ที่เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่ในส่วนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะต้องจ่ายเฉลี่ยเพิ่มเป็นสูงกว่า 5 บาทต่อหน่วย
สำหรับประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 500 หน่วยต่อเดือน ขณะนี้ กกพ.ยังไม่ได้สรุปตัวเลขค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเนื่องจากยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งภาระการจ่ายหนี้คืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังแบกภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เป็นรายรับค้างจ่ายอีก 120,000 ล้านบาท ฯลฯ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจากปัจจุบันเฉลี่ยค่าไฟรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นโดยคาดว่าเฉลี่ยจะขึ้น 5-12% ขณะเดียวกันยังจะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศรวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังย้ายฐานท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย
“เราต้องยอมรับว่าปี 2566 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถดถอย การลงทุนกำลังย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน ซึ่งไทยมีจุดเด่นหลายอย่าง แต่ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวียดนามที่อยู่เพียง 2.88 บาทต่อหน่วย จะส่งผลต่อขีดแข่งขันของเรายิ่งลดต่ำลงไปอีก”
ทั้งนี้ ส.อ.ท.เห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องทบทวนโครงสร้างพลังงานของไทยใหม่ เพื่อดูแลค่าพลังงานในระยะยาวให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสมและสอดรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการก้าวสู่พลังงานสะอาด โดยต้องเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทุกระดับที่จะนำมาใช้เองและเหลือก็จำหน่ายเข้าระบบโดยอำนวยความสะดวกให้ ง่ายขึ้น ส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเอทานอล โดยการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 นายอิศเรศ รัตนดิลก ณภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาครัฐควรหันมาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโดยยึดหลักการทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแบกภาระ “ต้องยอมรับว่าต้นเหตุแห่งวิกฤติค่าไฟฟ้าหลักๆ มาจากการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยช่วงเปลี่ยนผ่าน สัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณที่ล่าช้าจนทำให้ต้องไปนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจรที่ราคาสูงมากมาผลิตไฟแทน และขาดแผนรับมือล่วงหน้าอย่างทันท่วงที”
นอกจากนี้ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมาจากสำรองที่สูงกว่าปกติจากการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการ แต่สัญญายังกำหนดให้ต้องรับซื้อไฟจากเอกชนและต้องจ่ายค่าความพร้อม (AP) คือไม่ผลิตไฟก็ต้องจ่ายเงิน ทำให้เป็นภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และเป็นการเปิดซื้อไฟมากเกินความจำเป็น ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไขประเด็นเหล่านี้และเร่งเปิดไฟฟ้าเสรี รวมไปถึงการเจรจาพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติไทย-กัมพูชา เสริมความมั่นคงระยะยาว.