ครม.ผ่านแผนแม่บทอวกาศฯ ผุด “ดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ” รัฐเป็นเจ้าของ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.ผ่านแผนแม่บทอวกาศฯ ผุด “ดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ” รัฐเป็นเจ้าของ

Date Time: 14 ธ.ค. 2565 06:54 น.

Summary

  • ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย ปี 66-70 หวังลดสัดส่วนต้นทุนการขนส่งสินค้าจาก 6.4% เหลือ 5% ต่อจีดีพี ผลักดันไทยเป็นประตูการค้าภูมิภาคอาเซียน

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย ปี 66-70 หวังลดสัดส่วนต้นทุนการขนส่งสินค้าจาก 6.4% เหลือ 5% ต่อจีดีพี ผลักดันไทยเป็นประตูการค้าภูมิภาคอาเซียน นอกจากนั้น ยังเห็นชอบแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566–2580 และร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ที่รัฐเป็นเจ้าของบริหารจัดการเอง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ.2566-2570 เพื่อให้ผลักดันประเทศไทยเป็นประตูการค้าด้านระบบโลจิสติกส์ที่สำคัญในอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างท่าเรือ รถไฟ ถนน และท่า อากาศยานอย่างครอบคลุมเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่อุตสาหกรรมและด่านชายแดนสำคัญ พร้อมกับการพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์และปรับปรุงด่านชายแดน พัฒนาการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร การพัฒนาพิธีการศุลกากร กระบวนการนำเข้า-ส่งออก และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (LSPs)

สำหรับเป้าหมายความสำเร็จ ตั้งเป้าลดสัดส่วนต้นทุนการขนส่งสินค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงเหลือ 5% ต่อปี จากในปี 64 อยู่ที่ 6.4% สัดส่วนต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังต่อจีดีพีลดลงเหลือ 5% ต่อปี จากปี 64 อยู่ที่ 6.4% อันดับดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (แอลพีไอ) ด้านพิธีการศุลกากร อยู่ในอันดับ 25 หรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 3.20 จากปี 61 อยู่อันดับที่ 31 มีคะแนน 3.14 คะแนน อันดับแอลพีไอด้านสมรรถนะแอลเอสพีเอสภาครัฐและธุรกิจอยู่ใน อันดับ 25 หรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 3.60 จากในปี 61 อยู่อันดับที่ 32 มีคะแนน 3.41 คะแนน

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า ครม.ยังเห็นชอบร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566-2580 (National Space Master Plan 2023- 2037) วิสัยทัศน์ คือ “มุ่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศเพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ดำเนินพันธกิจ เช่น พัฒนาและส่งเสริมความมั่นคงอวกาศ พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอวกาศ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศ ติดตาม เฝ้าระวัง วิจัยและสำรวจอวกาศ เพื่อใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศในการรักษาความมั่นคง สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้บริการสาธารณะและเชิงพาณิชย์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกิจการอวกาศ

ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบหลักการร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมในการมีดาวเทียมสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่สามารถกำกับดูแลและบริหารจัดการเอง เพื่อใช้ในการให้บริการสาธารณะ ความมั่นคง และเชิงพาณิชย์ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐได้รับการจัดสรรช่องสัญญาณจำนวน 1 วงจรดาวเทียมเพื่อใช้ในกิจการของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ต่อมาหน่วยงานของรัฐได้มีการเช่าซื้อช่องสัญญาณของดาวเทียมเพิ่มเติมจากดาวเทียมไทยคม 6 ไทยคม 7 และช่องสัญญาณจากต่างชาติ โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมภาพถ่าย ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และดาวเทียมระบบนำร่อง จึงจำเป็นต้องมีดาวเทียมที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐหรือดาวเทียมที่รัฐมีสิทธิในการควบคุม บริหาร จัดการเพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติขึ้น โดยมีแนวความคิดหลัก คือ 1.จัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ 2.ใช้ประโยชน์จากเอกสารข่ายงานดาวเทียมและตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมในนามประเทศไทย 3.ให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ 4.ดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เป็นการแข่งขันกับเอกชน โดย NT ต้องดำเนินการจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสำรวจความต้องการใช้งานดาวเทียมในเชิงลึกต่อไป และร่วมพิจารณาเพื่อให้การดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติเกิดผลสำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ ครม.ได้รับทราบความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ...ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงการดำเนินงานศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทยด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ