“อาคม” ขออธิบายอีกครั้ง การเก็บภาษีขายหุ้น ถึงเวลาสร้างความเสมอภาค อุดช่องว่างความไม่เท่าเทียม รัฐยกเว้นการจัดเก็บภาษีมากว่า 30 ปี จากวันนั้น มูลค่าตามราคาตลาด 9 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ที่ 20 ล้านบาท ดังนั้นถึงเวลาและเหมาะสมที่จะจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามหลักสากล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Transaction Tax) นั้น เป็นไปตามแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของรัฐบาล เพื่อหารายได้เพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันรายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีพีดี) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ถือเป็นการปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมในการเสียภาษี เช่น คนมีรายได้ 100,000 บาท ต้องเสียภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ขณะที่อีกคนมีรายได้จากการซื้อขายหุ้น 100,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นต้องขจัดความไม่เสมอภาคนี้ออกไป
“กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ก็ได้รับการยกเว้นเก็บภาษีไปแล้ว ซึ่งในครั้งนั้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันตลาดหุ้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นน่าจะถึงเวลาเหมาะสมแล้ว”
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ภาษีขายหุ้นนี้ อยู่ในประมวลกฎหมายการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว เพียงแต่ได้รับการยกเว้นจัดเก็บเมื่อปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลของการยกเว้นการจัดเก็บครั้งนั้น เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยเติบโตและมีความแข็งแกร่ง มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) เพิ่มขึ้น 22 เท่า จากช่วงปี 2534 อยู่ที่ 900,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 20 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าจีดีพีของประเทศอีก ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ควรจะมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น ในปีแรกจัดเก็บในอัตรา 0.055% รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว และเมื่อนำมาบวกกับค่าธรรมเนียมของบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ที่จัดเก็บอัตรา 0.15% และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเบ็ดเสร็จจะเสียภาษีในอัตรา 0.195% ส่วนปีถัดไปจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.11% รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว เมื่อนำมาบวกค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ 0.15% และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเบ็ดเสร็จจะเสียภาษี 0.22% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าฮ่องกง ที่จัดเก็บในอัตรา 0.38% และมาเลเซีย 0.29% แต่ใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ จัดเก็บในอัตรา 0.19% ฟิลิปปินส์ 0.60% อังกฤษ 0.50% ไต้หวัน 0.30% ซึ่งอังกฤษ จัดเก็บภาษีทั้งจากขายหุ้น และภาษีจากกำไร
“การจัดเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าว ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครจะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งมีหลายฝ่ายกังวลว่าการจัดเก็บภาษีขายหุ้นของไทย จะส่งผลให้ไทยไม่สามารถเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนี้ได้ โดยเรื่องดังกล่าวเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่เป็นความจริง เนื่องจากประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินในปัจจุบัน มีอัตราการจัดเก็บภาษีและต้นทุนการซื้อขายหุ้น ทั้งที่สูงกว่าและใกล้เคียงกับไทย”
นายลวรณกล่าวอธิบายต่อประเด็นการยกเว้นภาษีขายหุ้นว่า มี 8 ประเภท ดังนี้ สำหรับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯให้แก่ 1.ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น 2.สำนักงานประกันสังคม 3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 5.กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 7.กองทุนการออมแห่งชาติ 8.กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น
“ผมขอย้ำว่า ข่าวการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือ มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด”.