สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกยังผันผวน ตลาดเบรนท์ อยู่ที่ 95.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เวสท์เท็กซัสฯ ที่ 89.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดูไบ ที่ 91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันสำเร็จรูป เบนซินออกเทน 95 ที่ 98.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ ดีเซลสำเร็จรูป ที่ 135.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปัจจัยบวกมาจากที่ รัฐบาลจีนเตรียมพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ที่คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน มี.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงไปแค่ 1.81% หลังจากที่ เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ร้อยละ 4 และประกาศจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ก่อนจากที่คาดว่าจะปรับเพิ่มในเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการประชุม สุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ผ่านมา มีเรื่องที่น่าสนใจคือ การเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ที่ต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวและ มีความยั่งยืนในยุคหลังโควิด ที่ได้รับการหารือและข้อเสนอจาก สภาเศรษฐกิจโลก องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก รวมทั้ง องค์การอนามัยโลก ที่จะต้องมีความยืดหยุ่นและการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง คุ้มทุน และความสมดุลในการผ่านวิกฤติต่างๆ
ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายในการจัดประชุม สุดยอดผู้นำเอเชีย–แปซิฟิก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล เพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เช่นกัน น่าแปลกอยู่อย่าง ไม่มีการพูดถึงในที่ประชุมระดับสากลทั้งสองแห่งคือ วิกฤติพลังงานและวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน สหรัฐฯ เองก็จะมุ่งไปที่การปราม เกาหลีเหนือ โดยแซะผ่าน รัฐบาลสี จิ้นผิง เท่านั้น
อีกเรื่องเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว Bio-Circular-Green ที่ชูให้เป็นพระเอก โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เป็นเทรนด์ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
ที่พอจะยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ สวัสดิการ สวัสดิภาพ ความสุข ที่รัฐพึงให้กับประชาชน ตามแนวคิดของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน ที่ระบุว่า สวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่เรื่องการดูแลคนจน คนด้อยโอกาส แต่เป็นการสร้างความสุขให้กับทุกโอกาส ไม่ใช่เรื่องของการแจกเงิน ซึ่งเป็นความคิด ที่ไม่เข้าใจและเข้าถึงระบบสวัสดิการและไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาว
ทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นด้วยนวัตกรรม เช่น บิ๊กดาต้า หรือฐานข้อมูลด้านสวัสดิการทั้งหมด ที่กระจายไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อยู่กับกระทรวงการคลัง การช่วยเหลือคนพิการด้อยโอกาสอยู่กับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ การเยียวยาเกษตรกรอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ สวัสดิการผู้ใช้แรงงานอยู่ที่กระทรวงแรงงาน ทำให้ ระบบสวัสดิการแห่งรัฐขาดประสิทธิภาพ ศักยภาพ และความเท่าเทียมเพราะฉะนั้น นโยบายพักหนี้ เงินบำนาญ หรือสวัสดิการอื่นๆโดยทั่วไป จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะขาดความเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ใช่ไม่ใช่.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th