หั่นงบประกันรายได้ 8.1 หมื่นล้าน ครม.ชี้ปีนี้ข้าวแพง “อาคม” พอใจหนี้ไม่ชนเพดาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หั่นงบประกันรายได้ 8.1 หมื่นล้าน ครม.ชี้ปีนี้ข้าวแพง “อาคม” พอใจหนี้ไม่ชนเพดาน

Date Time: 16 พ.ย. 2565 08:25 น.

Summary

  • ครม.คลอดโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 4 หั่นวงเงินจากที่ นบข.เสนอมา 150,000 ล้านบาท เหลือ 81,266 ล้านบาท ให้เหตุผลเพราะปีนี้ราคาข้าว สูงขึ้นจากการส่งออกได้ดี

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ครม.คลอดโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 4 หั่นวงเงินจากที่ นบข.เสนอมา 150,000 ล้านบาท เหลือ 81,266 ล้านบาท ให้เหตุผลเพราะปีนี้ราคาข้าว สูงขึ้นจากการส่งออกได้ดี ด้าน “อาคม” ออกโรงแจงไม่มีปัญหาสัดส่วนหนี้ชนเพดาน ล่าสุดแค่เกือบเท่านั้น เพราะแยกวงเงินใช้งบตามมาตรา 28 แค่ 6.6 หมื่นล้านที่เหลือใช้งบกรมการข้าวอีก 1.5 หมื่นล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 จำนวน 81,265.91 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นวงเงินตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังแห่งรัฐ ที่ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่าย จำนวน 66,040.91 ล้านบาท และเป็นส่วนที่ตั้งเป็นงบประมาณ ให้กับกรมการข้าว เพื่อใช้ในการลดต้นทุนการผลิตอีกจำนวน 15,525 ล้านบาท ซึ่งหลังจากอนุมัติวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2565/66 แล้ว จะทำให้สัดส่วนหนี้ตามมาตรา 28 อยู่ที่เกือบ 32% ของวงเงินงบประมาณ หรือเกือบชนเพดานหนี้แล้ว

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/2566 โดยอนุมัติกรอบวงเงิน ทั้งสิ้น 81,265.91 ล้านบาท โดยในวันที่ 22 พ.ย.2565 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเริ่มโอนเงินงวดแรกให้กับชาวนาที่ลงทะเบียนไว้ โดยมาจากวงเงินที่อนุมัติทั้งสิ้นในปีนี้ ซึ่งแบ่งเป็นเงินชดเชยส่วนต่าง 18,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้เห็นชอบวงเงินดำเนินโครงการดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท ขณะที่ที่ประชุม ครม.อนุมัติในครั้งนี้ทั้งสิ้น 81,265.91 ล้านบาท เนื่องจากการประมาณการก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดตกต่ำ แต่ปรากฏว่าปัจจุบันราคาข้าวได้กลับขึ้นมาสูงขึ้น โดยการประมาณการส่งออกข้าวของไทยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เช่น 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกข้าวแล้ว 5.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 3.8 ล้านตัน และตลาดปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ทั้งสิ้น 7 ล้านตันตามเป้าหมาย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 6.3 ล้านตัน

“เมื่อเปรียบเทียบโครงการประกันรายได้ชาวนา 3 ปีที่ผ่านมา ในปีแรกใช้เงินดำเนินโครงการทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาข้าวเหนียวแพงมาก และราคาข้าวประเภทอื่นๆ ไม่ตกมาก ต่อมาปีที่สอง ใช้วงเงินชดเชย 48,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาข้าวปรับลดลง ต่อมาในปีที่สามใช้เงิน 86,000 ล้านบาท เนื่องจากเกิดโควิด-19 รัฐบาลไม่สามารถส่งออกข้าวได้”

สำหรับรายละเอียดของวงเงินที่อนุมัติทั้งสิ้นในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน โดยเป็นการจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง (ราคาตลาด) และราคาประกันรายได้ (10,000-15,000 บาทต่อตัน ตามชนิดข้าว) วงเงิน 18,700.13 ล้านบาท

2.มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำรวม 7,482.69 ล้านบาท ได้แก่ โครงการที่ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 7,107.69 ล้านบาท เป็นการจ่ายสินเชื่อเพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว 1,500 บาทต่อตัน

โครงการที่ 2 สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป็นการสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร 375 ล้านบาท ตลอดจนโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เพื่อดูดซับ 4 ล้านข้าวเปลือก อย่างน้อย 60-180 วัน โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ใช้จ่ายจากงบปกติของกรมการค้าภายในหรือเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

โครงการที่ 3 โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท วงเงิน 55,083.09 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ