ธปท.เดินหน้าหนุนคนไทยสู่สังคมไร้เงินสด ตั้งเป้า 3 ปี สร้างระบบพร้อมเพย์เอกชนกับเอกชน เพิ่มปริมาณการโอนเงินชำระเงินของภาคประชาชนผ่านระบบดิจิทัลเป็น 800 ครั้งต่อคนต่อปี ขยับสัดส่วนการชำระเงินดิจิทัล 42% ของระบบเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มอัตราเร่งของการลดใช้เงินสด กดยอดใช้เช็คเหลือครึ่งเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวนโยบาย “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อ เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม การบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุม และการส่งเสริมให้ภาคการเงินยืดหยุ่นมากขึ้น และยังได้กำหนดทิศทางการพัฒนาระบบการชําระเงิน หรือ Payment Strategic Directions ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2565-2567) ทําให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวของเห็นภาพที่ชัดเจน เพื่อต่อยอดและปรับปรุงการให้บริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่คนไทยนิยมใช้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้
โดยล่าสุด มีจำนวนบัญชีที่ใช้การชำระเงินโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ 72 ล้านเลขหมาย มีปริมาณเฉลี่ยต่อวัน 42 ล้านรายการ มูลค่าเฉลี่ยต่อวัน 121,000 ล้านบาท มีจุดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคิวอาร์โค้ดกว่า 7 ล้านจุด หลังจากนี้ ธปท.ได้ต่อยอดการให้บริการพร้อมเพย์ โดยจะเพิ่มการชำระเงินให้ภาคธุรกิจมีทางเลือกใช้บริการ การชำระเงินดิจิทัล และมีกระบวนการธุรกิจแบบดิจิทัลที่ครบวงจร ผ่านระบบ PromptBiz โดยนอกจากการชำระเงิน ยังสามารถส่งเอกสารที่จำเป็นในการทำธุรกิจผ่านระบบดังกล่าวได้อีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,000 แห่ง ในปี 2567
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังตั้งเป้าจะขยาย ระบบการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลในไทยในภาพรวมให้เป็นทางเลือกหลักของทุกกลุ่มคนทดแทนการใช้เงินสด และใช้เช็ค โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีคนไทยใช้การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล 312 ครั้งต่อคนต่อปี สูงกว่ามาเลเซียที่ใช้เพียง 170 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่ปริมาณการใช้เช็คลดลง 5 ปีต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ปริมาณการใช้เช็คลดลง 16% มูลค่าเงินผ่านเช็คลดลง 12%
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ ธปท.เพิ่มปริมาณการใช้ ชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลของคนไทยเป็น 2.5 เท่า จาก 312 ครั้งในปี 2564 เป็น 800 ครั้งต่อคนต่อปี ภายใน 3 ปี หรือในปี 2567 เพิ่มสัดส่วนมูลค่าการใช้การชำระเงินดิจิทัลต่อการใช้เงินสดเพื่อการชําระเงินของประชาชน อีก 5% ภายใน 3 ปี จากเดิมที่มีสัดส่วน 37% ของระบบเศรษฐกิจ รวมในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 42% ในปี 2567
โดยในส่วนของการลดการใช้เงินสด ในระบบ ธปท.ตั้งเป้าหมายจะทำให้อัตราเร่งของการลดการใช้เงินสดเพิ่มเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน ภายใน 3 ปี หรือในปี 2567 และตั้งเป้าลดการใช้เช็คกระดาษ ให้เหลือไม่ถึง 50% จากยอดของปี 2564 ภายใน 5 ปี ภายในปี 2569.