นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าปี 66 จะทรงตัวระดับสูงต่อไป เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงหลัก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ผันแปรตามราคาน้ำมัน ขณะที่ไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าถึง 20% ที่มีราคาสูงมาก หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังยืดเยื้อต่อเนื่องก็จะทำให้ราคาแอลเอ็นจีมีแนวโน้มแพงมาก เช่น หากแอลเอ็นจี 50 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จากปัจจุบัน 40 เหรียญฯต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบเป็นหน่วยค่าไฟฟ้าของไทย จะสูงถึงกว่า 13.30 บาทต่อหน่วย หากผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัด หรือใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด จะทำให้ใช้แอลเอ็นจีน้อยลง ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็จะต่ำลง
“การบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างปรับแผนเชื้อเพลิงให้เหมาะสม ทั้งการใช้น้ำมันดีเซลทดแทนแอลเอ็นจีที่แพงกว่า การยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง และ กฟผ.สั่งเดินเครื่องผลิตจากโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำที่สุดก่อน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมปรับระบบไฟฟ้ารองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบมากขึ้น จัดทำโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย ยืดหยุ่น นำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเหมาะสม พัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ”
สำหรับการจัดทำโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีความทันสมัย ยืดหยุ่นนั้น กฟผ.ดำเนินการหลายรูปแบบ ได้แก่ ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (บีอีเอสเอส) ที่เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า หรือกริด สเกล นำร่องใช้งานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังผลิตไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และสถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 16 เมกะวัตต์-ชั่วโมง รวม 37 เมกะวัตต์-ชั่วโมง มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ตอบสนองต่อระบบไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว เพราะจ่ายกำลังไฟฟ้าภายในเวลาไม่เกิน 200 มิลลิวินาที หรือไม่ถึง 1 วินาที ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า
“กฟผ.ได้นำผลการศึกษานำร่องบีอีเอสเอส เพื่อเตรียมคน เตรียมนวัตกรรมให้พร้อมรับอนาคต ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานจากฟอสซิลไปเป็นพลังงานทดแทน ขณะนี้ราคาแบตเตอรี่ ยังสูง 400-450 เหรียญฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ใน 5 ปี ราคาจะลดลงเหลือ 100 เหรียญฯต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ช่วงนั้นจะเหมาะสมลงทุนเชิงพาณิชย์ และจะเป็นหนึ่งในแผนงานความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ”.