ชี้สารพัดปัจจัยเกื้อหนุน ส่งออกเดือน ส.ค.พุ่ง 8.6 แสนล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชี้สารพัดปัจจัยเกื้อหนุน ส่งออกเดือน ส.ค.พุ่ง 8.6 แสนล้านบาท

Date Time: 27 ก.ย. 2565 08:22 น.

Summary

  • ส่งออกเดือน ส.ค. ยังขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญ เพิ่ม 7.5% บวกติดต่อกัน 18 เดือน เหตุเศรษฐกิจคู่ค้า ฟื้นตัว มีการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้หลายสินค้าขายดี มีความต้องการอาหาร

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก

ส่งออกเดือน ส.ค. ยังขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญ เพิ่ม 7.5% บวกติดต่อกัน 18 เดือน เหตุเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว มีการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้หลายสินค้าขายดี มีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น และบาทอ่อนส่งผลดีต่อสินค้าเกษตร ห่วงสงครามรัสเซีย–ยูเครนยืดเยื้อ ทำก๊าซธรรมชาติ ปุ๋ยแพงขึ้น แต่ตลอดทั้งปีนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมั่นใจทำได้เกินเป้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.5% เป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกัน เป็นเดือนที่ 18 คิดเป็นเงินบาท 861,169 ล้านบาท ส่วนยอดรวม 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 11% คิดเป็นเงินบาท 6,635,446 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าเดือน ส.ค. มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 21.3% ขาดดุลการค้า 4,215.4 ล้านเหรียญฯ ยอดรวมนำเข้า 8 เดือน 210,578.5 ล้านเหรียญฯ ขาดดุลการค้า 14,131.7 ล้านเหรียญฯ

“ปัจจัยบวกที่สนับสนุนการส่งออกมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวจากโควิด-19 การเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว ขายดีขึ้น ทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้เดินทาง เครื่องสำอาง อีกทั้งยังมีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ตามกระแสการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร, ราคาสินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ดีขึ้นจากค่าบาทที่อ่อนตัว แต่ก็มีผลบวกลบ เพราะใช้เงินนำเข้าน้ำมันมากขึ้น แต่สินค้าเกษตรแข่งขันได้ดีขึ้น และมีความต้องการใช้ เครื่องทำความเย็นจากกระแสคลื่นความร้อนที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ”

สำหรับการส่งออกเมื่อเดือน ส.ค. ปรากฏว่า สินค้าเกษตรลดลง 10.3% แต่มีหลายสินค้าที่ขยายตัว ดีขึ้น เช่น ไก่สด แช่เย็น เพิ่ม 125.4% ข้าว เพิ่ม 15.3%, อุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 27.6% เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 173.5% อาหารสัตว์เลี้ยง ที่เป็นดาวรุ่ง เพิ่ม 25.5% ฯลฯ และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 9.2% เช่น เครื่องปรับอากาศเพิ่ม 61.1% หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่ม 53.6% เป็นต้น โดยตลาดที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก เช่น CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) เพิ่ม 41.1%, แคนาดา เพิ่ม 39.3%, ตะวันออก กลาง เพิ่ม 38.4%, สหราชอาณาจักร เพิ่ม 32.2%

นอกจากนี้ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ส.ค. มีมูลค่ารวม 154,295 ล้านบาท เพิ่ม 4.5% เป็นการส่งออก 88,234 ล้านบาท ลดลง 3.2% และรวม 8 เดือน 682,849 ล้านบาท เพิ่ม 0.1% หากแยกเฉพาะการค้าชายแดน มีมูลค่าการค้า รวม 91,974 ล้านบาท เพิ่ม 27.5% เป็นการส่งออก 56,849 ล้านบาท เพิ่ม 29.6% รวม 8 เดือน 432,923 ล้านบาท เพิ่ม 21.1% การส่งออกที่เพิ่มขึ้น เพราะมีการทยอยเปิดด่านเพิ่ม ปัจจุบันเปิดได้แล้ว 69 ด่าน จาก 97 ด่าน ส่วนการค้าผ่านแดน เดือน ส.ค. มีมูลค่า 62,322 ล้านบาท ลบ 17.5% เป็นการส่งออก 31,385 ล้านบาท ลบ 33.6% เนื่องจากการค้าผ่านแดน ลดความสำคัญลง เพราะไทยส่งออกทางเรือมากขึ้น

“ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 168% และไทยต้องนำเข้า แล้วก๊าซธรรมชาติยังเอาไปทำปุ๋ย ทำให้ราคาปุ๋ยยังคงสูงอยู่ แต่ด้วยศักยภาพของทีมเซลส์แมนประเทศที่เร่งหาตลาดใหม่ๆรองรับ ทำให้การส่งออกยังดีอยู่ ทำให้ช่วงที่เหลือก็จะยังดี ล่าสุด ตัวเลข 8 เดือนบวกแล้ว 11% เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4% ช่วงปลายปี คิดว่าตัวเลขยังดีอยู่”

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สาเหตุที่ไทยขาดดุลการค้าเดือน ส.ค. ถึง 4,215 ล้านเหรียญฯ เพราะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ราคาเพิ่มขึ้น 168% ราคาน้ำมันเพิ่ม 28% ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เพิ่ม 0.6% ถือเป็นภาวะที่ไม่ปกติ เพราะได้รับผลกระทบจากสงคราม อีกทั้งเงินบาทอ่อนค่า ทำให้มีผลต่อดุลการค้า แต่ยังส่งผลดีต่อการ ส่งออกที่แข่งขันได้ดีขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ