เก็บสินค้าฟุ่มเฟือยเกิน 7% คลังจ้องรีดแวตเพิ่มรายได้แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เก็บสินค้าฟุ่มเฟือยเกิน 7% คลังจ้องรีดแวตเพิ่มรายได้แสนล้าน

Date Time: 26 ก.ย. 2565 06:01 น.

Summary

  • คลังเตรียมปัดฝุ่นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 อัตรา หลังจากไม่สามารถเก็บอัตรา 10% ได้แบ่งเป็นสินค้าจำเป็น 7% กับสินค้าฟุ่มเฟือยมากกว่า 7% เพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ คาดไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

คลังเตรียมปัดฝุ่นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 อัตรา หลังจากไม่สามารถเก็บอัตรา 10% ได้แบ่งเป็นสินค้าจำเป็น 7% กับสินค้าฟุ่มเฟือยมากกว่า 7% เพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ คาดไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวายงานว่า จากที่รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยปีงบประมาณ 2566 มีรายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องหาแนวทางการจัดเก็บรายได้เพิ่ม เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามปฏิรูปภาษี ปรับโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ และลดการขาดดุลงบประมาณ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้

ล่าสุดได้มีการหยิบยกประเด็นการจัดเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 2 อัตรา มาหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากเป็นอัตราภาษีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งในหลายๆประเทศก็ใช้ลักษณะเดียวกัน โดยสินค้าจำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค โดยจะไม่กระทบประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งจัดเก็บภาษีอัตราปกติ 7% ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือย สุรา ยาสูบ เบียร์ สินค้าแบรนด์เนม ร้านอาหารราคาแพง จัดเก็บในอัตราที่สูงกว่า 7% คาดว่าจะสร้างรายได้เข้ารัฐมากกว่า 100,000 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 อัตรานั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยศึกษาไว้นานมาแล้ว แต่ไม่มีการหยิบยกมาศึกษาพิจารณา รวมถึงการปรับขึ้นภาษีแวต จาก 7% เป็น 10% ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย และเกรงว่าจะกระทบประชาชน ประกอบกับฝ่ายการเมืองไม่สนับสนุน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตามหลักการของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เก็บจากการบริโภค ซึ่งถือว่าเป็นระบบภาษีที่มีความเป็นธรรมและไม่ซ้ำซ้อน โดยเก็บในอัตรา 7% สำหรับทุกสินค้าที่มีการบริโภค ยกเว้นบางสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน และรวมถึง ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย โดยจะต้องมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความพยายามปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งสามารถประกาศใช้กฎหมายได้ ดังนี้ ภาษีการรับมรดก แต่ยกเว้นมรดกที่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนมรดกที่เกินกว่า 100 ล้านบาท เสียภาษีอัตรา 5% กรณีผู้รับเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน และกรณีเป็นบุคคลอื่น เก็บในอัตรา 10% และต่อมาได้ประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ แต่ทั้งภาษีมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่อง จากกำหนดข้อยกเว้นจำนวนมากและอัตราภาษีต่ำ และกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยนั้น ถือว่าสร้างรายได้ให้กับรัฐมากกว่า 5,000 ล้านบาท

สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากร ถือเป็นหน่วยงานที่จัดเก็บรายได้มากที่สุด แต่ละปีราว 1.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 80% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล โดยช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ค.65) กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีได้ 1.67 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 766,000 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ