ทุกครั้งที่ราคาสินค้าในประเทศแพงขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม “กรมการค้าภายใน” กระทรวงพาณิชย์ จะกลายเป็นจำเลยของสังคมทันที เพราะคนไทยมักคิดว่า กรมการค้าภายใน มีหน้าที่เพียงแค่ “คุม” ราคาสินค้าเท่านั้น!!
แต่ที่จริงแล้ว กรมการค้าภายในมีหน้าที่สร้างความเป็นธรรมในการขายสินค้าและบริการ โดยการกำกับดูแลให้ราคา ให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่ให้มีการค้ากำไรเกินควร หรือขายราคาสูงเกินสมควร ปฏิเสธการขาย กักตุนสินค้า หรือมีพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เพื่อใช้กำกับดูแลสถานการณ์สินค้า ทั้งในด้านราคาให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุน และในด้านปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ
“นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายใน ยอมรับว่าในช่วงนี้ที่ต้นทุนผลิตสินค้า ต้นทุนการขนส่งสูง ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นมาก จากราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาวัตถุดิบต่างๆในตลาดโลก ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น บางสินค้าขาดแคลนนั้น การกำกับดูแลราคาสินค้าให้อยู่ในระดับเหมาะสม และมีปริมาณเพียงพอ ไม่ขาดแคลน เป็นเรื่องยากมาก
เพราะเมื่อต้นทุนต่างๆสูงขึ้น ผู้ผลิตสินค้าย่อมต้องการปรับขึ้นราคาขาย เพื่อให้ยังคงกำไรไว้เช่นเดิม และผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้ผู้บริโภครับกรรมแทน
แต่ในแง่ของกรมการค้าภายใน การจะพิจารณาให้สินค้าใดๆ ปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น กว่า 200 รายการ ที่กรมติดตามดูแล รวมถึงสินค้าและบริการในบัญชีสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ อีกกว่า 50 รายการ
ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย!! เพราะหากยอมให้ผู้ผลิต ขึ้นราคาขายตามที่ขอมา แน่นอนว่าผู้บริโภคจะเดือดร้อน ค่าครองชีพสูงขึ้น ต้นทุนชีวิตสูงขึ้น ซ้ำเติมสถานการณ์ผู้บริโภค ที่เดือดร้อนจากผลกระทบของโควิด-19 อยู่แล้ว ให้ย่ำแย่ลงไปอีก
แต่ถ้าไม่ยอมให้ปรับขึ้นราคา และตรึงราคาขายเป็นเวลายาวนานในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตอาจประสบปัญหาขาดทุน และไม่ผลิตสินค้าออกมาขาย เมื่อนั้น จะเกิดภาวะ “ขาดแคลน” สินค้า สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคอีก
ขณะเดียวกัน หากไม่ให้ปรับขึ้นราคาขาย เกษตรกร หรือผู้ผลิตสินค้าวัตถุดิบที่เป็นสินค้าต้นทาง ก็อาจเดือดร้อน ขายผลผลิตไม่ได้ ราคาตกต่ำ เพราะผู้ผลิตไม่ซื้อไปผลิตสินค้าออกขาย
ดังนั้น การพิจารณาปรับราคาสินค้า กรมการค้าภายในต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร หรือผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำ, ผู้ผลิตสินค้า และผู้บริโภค โดยยึด “วิน วิน โมเดล” ตามนโยบายของ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์
ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาปรับราคาสินค้าหลายรายการที่ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น หลังขอความร่วมมือตรึงราคาขายมานานเกือบ 2 ปีแล้ว ซึ่งมีผู้ผลิต 61 บริษัท ขอปรับราคาเข้ามา 127 ครั้ง ในสินค้า 936 รายการ 116 ยี่ห้อ ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์นม ผงซักฟอก ผ้าอนามัย น้ำยาล้างจาน ฯลฯ
“เมื่อพิจารณาแล้ว หากสินค้าใดมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง และผู้ผลิตตรึงราคาไม่ไหว ก็จะให้ขึ้นราคาได้ แต่ให้ขึ้นน้อยที่สุด เพื่อให้ยังมีกำลังมาผลิตสินค้า ไม่เกิดภาวะขาดแคลน และผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ถ้ารายใดยังพอมีกำไร จะขอความร่วมมือตรึงราคาต่อ เพื่อลดความเดือดร้อนประชาชน ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ขอความร่วมมือตรึงราคา ช่วยประหยัดเงินให้ผู้บริโภคได้ถึง 98,287 ล้านบาท”
ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่กว่า 36 บาท/เหรียญสหรัฐฯนั้น ผู้ผลิตยังไม่ได้ทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาเข้ามา
สำหรับสินค้าที่ต้นทุนลดลง กรมการค้าภายในจะเร่งรัดให้ผู้ผลิตลดราคาขายด้วย อย่างน้ำมัน ปาล์มขวด ที่ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดขวดละ 69–70 บาท ขณะนี้ลดลงเหลือ 53 บาท และมีแนวโน้มลดลงอีก ตามต้นทุนผลปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลงจากช่วงก่อนหน้า
หากผู้บริโภคพบเห็นการเอาเปรียบ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าและบริการ แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ หากพบผิดจริง จะดำเนินการตามกฎหมายทันที
“อยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนต่างๆ ของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นด้วย แต่กรมการค้าภายในจะกำกับดูแลสถานการณ์สินค้าให้ดีที่สุด เมื่อราคาขึ้นได้ ก็ต้องลงได้หากต้นทุนลดลง”.
สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์