ออกหุ้นกู้ กทม. ใช้ปลดหนี้ ชี้ทางออกสางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ออกหุ้นกู้ กทม. ใช้ปลดหนี้ ชี้ทางออกสางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

Date Time: 18 ก.ค. 2565 05:07 น.

Summary

  • นักการเงินแนะผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” ออกหุ้นกู้ระดมทุนจากคนกรุงเทพฯ เหตุงบประมาณไม่พอ จะได้เอาเงินไปแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปจนถึงโครงการแก้น้ำท่วม ฟื้นฟูที่อยู่คนจนเมือง

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นักการเงินแนะผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” ออกหุ้นกู้ระดมทุนจากคนกรุงเทพฯ เหตุงบประมาณไม่พอ จะได้เอาเงินไปแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปจนถึงโครงการแก้น้ำท่วม ฟื้นฟูที่อยู่คนจนเมือง เชื่อมีคน กทม.ร่วมระดมทุนด้วยจำนวนมากเพื่อเชื่อมั่นในฝีมือ “ชัชชาติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ว่า กทม.ไม่มีงบประมาณเพียงพอจะเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้สินของรถไฟฟ้าสีเขียว หรือซื้อโครงการนี้มาเป็นของ กทม.เพื่อบริหารจัดการให้สามารถ เก็บค่าโดยสารในราคาที่ประชาชนสามารถรับได้

ก็ปรากฏว่ามีนักการเงินทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนวาณิชธนกิจจำนวนไม่น้อยให้ความเห็นว่า เครดิตเรตติ้งของ กทม.ในฐานะองค์กรรัฐ จัดว่าอยู่ในระดับที่ดีพอและมีความเชื่อมั่นมากพอที่จะออกหุ้นกู้ระดมทุนเพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคและสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนซื้อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือสายอื่นๆมาทำให้ดี และเป็นประโยชน์มากที่สุดแก่คน กทม. หรือจะเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การจัดการระบบการเก็บขยะ การฟื้นฟูที่อยู่อาศัยให้คนยากจนในเมือง ไปจนถึงการแก้ปัญหาระบบสายไฟและสายสื่อสาร ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ในหลายจุด

มีรายงานว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กทม.ได้ว่าจ้างบริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด ให้จัดอันดับเครดิตเรตติ้งของ กทม.ในฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษปีละครั้ง โดย กทม.เป็นเพียงองค์กรเดียวที่ขอให้มีการจัดดับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับองค์กรภาคเอกชน แต่มีความแตกต่าง เนื่องจาก กทม.มีอำนาจและความรับผิดชอบที่แตกต่างจากผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการตรากฎหมาย เทศบัญญัติ หรือระเบียบข้อบังคับต่างๆเพื่อใช้ภายในพื้นที่รับผิดชอบ

นอกจากนี้ กทม.ยังมีความสามารถในการกำหนดระดับของรายได้ (Tax authority) ที่จะได้รับในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าอำนาจในการกำหนดอัตราภาษี หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ อาจจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลซึ่งในกรณีของประเทศไทย อาจหมายรวมถึงคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา กระนั้นก็ตาม ผู้รู้เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับต่างๆให้ความเห็นว่า กทม.มีเทศบัญญัติที่ได้ทำคลอดออกมา แต่ยังไม่มีการบังคับใช้

สำหรับเครดิตเรตติ้ง กทม.ที่จัดทำไว้หลายปีติดต่อกันจนถึงปี พ.ศ.2558 อยู่ที่ระดับ “AA+” หรือแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตนี้สะท้อนถึงสถานภาพของ กทม.ในฐานะศูนย์กลางของเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ มีแหล่งรายได้ที่แน่นอนจากภาษีอากร การบริหารงบประมาณภายในนโยบายงบประมาณแบบสมดุล อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีปัจจัยหลายด้าน เช่น รายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และภารกิจที่รับทอดจากรัฐบาลมา ทำให้เกิดการลดทอนความต้องการในการลงทุนอย่างมากโดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภค และระบบขนส่งมวลชน

ขณะเดียวกัน กทม.ยังมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น รวมถึงการต้องติดตามการนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่เหมาะสม การบริหารจัดการหนี้สิน และการลงทุนซึ่งต้องดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับระดับรายได้ และการพัฒนากรอบ วินัยการบริหารหนี้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนจากชาว กทม.นี้ อาจดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย 2-3% ให้แก่ผู้ลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนด “เดี๋ยวนี้ไม่มีใครต้องกู้เงินแบงก์ แล้วอยากลงทุนอะไร ก็ออกหุ้นกู้ได้หาก กทม.ตัดสินใจตามแนวทางนี้ รับรองว่าจะมีคน กทม.ร่วมระดมทุนด้วยจำนวนมาก เพราะเชื่อมั่นผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ว่า จะลงทุนให้เกิดประโยชน์โภคผลแก่ชาว กทม. โดยสามารถชำระหนี้คืนได้ในระยะเวลาอันสั้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ