ร้องขอขึ้นราคาอีก 2 บาท ถึงคิว “รถเมล์-สองแถว” กทม.แบกไม่ไหว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ร้องขอขึ้นราคาอีก 2 บาท ถึงคิว “รถเมล์-สองแถว” กทม.แบกไม่ไหว

Date Time: 30 มิ.ย. 2565 07:35 น.

Summary

  • รถเมล์และรถสองแถว หมวด 4 กทม. เอาบ้าง ขอปรับราคาขึ้นอีก 2 บาท ด้าน “ศักดิ์สยาม” ขอประเมิน 3 เดือน หลังไฟเขียวให้รถร่วมขึ้นค่าโดยสาร ขณะที่ตรึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปจนถึงสิ้นปี 65

Latest

“ซื้อบ้าน” หลังแรก กับหลักวางแผนการเงิน รายได้เหยียบแสน แต่ไม่หยุด สร้างหนี้ใหม่ ก็อาจเป็นแค่ฝัน

รถเมล์และรถสองแถว หมวด 4 กทม. เอาบ้าง ขอปรับราคาขึ้นอีก 2 บาท ด้าน “ศักดิ์สยาม” ขอประเมิน 3 เดือน หลังไฟเขียวให้รถร่วมขึ้นค่าโดยสาร ขณะที่ตรึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปจนถึงสิ้นปี 65

นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานสหพันธ์รถเมล์ กทม. และ ปริมณฑล เปิดเผยว่า ได้มายื่นหนังสือต่อนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง เพื่อขอให้พิจารณาปรับค่าโดยสารรถเมล์และรถสองแถว หมวด 4 กทม. และปริมณฑล เพิ่มอีก 2 บาท จากเดิมค่าโดยสารรถสองแถว จาก 8 บาท เป็น 10 บาท ส่วนรถเมล์ขอปรับค่าโดยสารจาก 10 บาท เป็น 12 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป สำหรับสาเหตุที่ต้องมาขอให้ภาครัฐช่วยเหลือเนื่องจากเมื่อมีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด คนใช้บริการลดลงทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันดีเซล และก๊าซที่ปรับสูงขึ้นได้ โดยปัจจุบันมีรายได้ลดลงกว่า 40%

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางได้มีมติอนุมัติให้ผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด ปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มอีก 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร และให้มีผลตั้งแต่ 4 ก.ค.เป็นต้นไปนั้น จากเดิมทางผู้ประกอบการเสนอขอปรับราคา 10 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งการปรับราคาดังกล่าวกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบกได้มีการพิจารณาจากต้นทุนตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หากราคาน้ำมันมีการปรับลด ขึ้นลง ตามเกณฑ์ที่ต้องปรับ ก็มีปรับลดหรือเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ จะมีการประเมินอีกครั้งภายใน 3 เดือน ว่าจะต้องมีการปรับขึ้น หรือลงตามสถานการณ์

“เข้าใจหัวอกของผู้ประกอบการที่มาขอปรับอัตราค่าโดยสาร เพราะหากไม่เดือดร้อนจริงๆ ก็คงไม่มายื่นหนังสือเพื่อให้หาทางช่วยเหลือ เพราะคงไม่มีใครต้องยอมทนแบกรับภาระต้นทุนไว้และทำกิจการไปต่อได้ เบื้องต้นได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร บขส.ว่า มีความพอใจที่ให้ปรับค่าโดยสารได้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมพิจารณาจากความจำเป็น และต้นทุนที่ผู้ประกอบการแบกรับเป็นหลัก”

ทั้งนี้ บขส.ได้มีการประมาณการว่า หากรถร่วม บขส.ได้ปรับราคาอีก 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร ค่าโดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-เกาะสมุย เดิมอยู่ที่ 860 บาท ค่าโดยสารใหม่อยู่ที่ประมาณ 963 บาท มีส่วนต่างประมาณ 103 บาท, เส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ค่าโดยสาร 637 บาท ค่าโดยสารใหม่อยู่ที่ประมาณ 715 บาท มีส่วนต่างประมาณ 78 บาท เป็นต้น

ขณะเดียวกันนายศักดิ์สยามกล่าวภายหลังประชุมหารือร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อหาแนวทางมาตรการการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.65 มีมติเห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่กำหนดในสัญญาสัมปทานให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่ทุกๆระยะเวลา 24 เดือน จากปัจจุบันอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 ถึง 42 บาท เป็น 17 ถึง 43 บาท โดยเพิ่มขึ้น 1 บาท สำหรับการเดินทางสถานี ที่ 6, 9, 11 และ 12 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.65 เป็นต้นไปนั้น ในเรื่องนี้เพื่อเป็นการลดผลกระทบของประชาชนทางกระทรวงจึงได้ข้อสรุปว่าจะตรึงราคาค่าโดยสารดังกล่าวออกไปถึงสิ้นปี 65

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ, หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่จะคงในราคาเดิมจะเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 42 บาท พร้อมส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 50% และสำหรับนักเรียน นักศึกษา 10% ของอัตราค่าโดยสารบุคคลทั่วไป ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.65 เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ