“สุพัฒนพงษ์” ตั้งโจทย์ให้ “โรงกลั่น-กรณ์” สรุปตัวเลขกำไรส่วนเกินของโรงกลั่นที่แท้จริงให้ได้ก่อน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจตรงกัน ก่อนตกลงว่าจะจ่ายเงินให้รัฐเท่าใด หากไม่จบค่อยหาช่องบังคับทางกฎหมาย ด้านนายกฯย้ำหลัก 3 ประการ ดูแลความมั่นคงพลังงาน ไม่กระทบประชาชนเกินไป และช่วยกลุ่มเปราะบาง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ภายในสัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุปของผลการหารือการขอความร่วมมือโรงกลั่นนำส่งกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นให้กับรัฐบาล ประเด็นแรกที่ขอให้โรงกลั่นไปดำเนินการคือ ให้คิดวิธีคำนวณค่าการกลั่นให้เห็นว่าแตกต่างจากที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ที่คำนวณออกมาลิตรละ 8.50 บาทอย่างไร เพราะนายกรณ์ก็มีที่มาที่ไป ตรงนี้เลยเกิดความเข้าใจของประชาชนที่แตกต่างกัน ดีที่สุดได้บอกสมาคมโรงกลั่นว่าได้เห็นข้อมูลของนายกรณ์แล้ว ก็ให้ไปวิเคราะห์ดูและมาชี้แจงและแลกเปลี่ยนกับนายกรณ์ เชิญท่านมาพบกันก็ได้ จะได้มีตัวเลขที่เห็นตรงกันมา ขณะที่กระทรวงพลังงานก็มีฐานคำนวณค่าการกลั่น ซึ่งเฉลี่ย 6 เดือน ที่ 3.27 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ จากการสอบถามทางนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่หารือกับโรงกลั่น บอกว่าบรรยากาศในการพูดคุยก็ร่วมมือกัน เข้าใจภาระของรัฐบาลที่ดูแลราคาพลังงานอยู่ และในน้ำมันบางประเภทก็เป็นภาระของประชาชน เท่าที่รับฟังเข้าใจว่าทั้ง 6 โรงกลั่นพร้อมไปพิจารณา แต่ข้อหนึ่งต้องจบกันก่อนว่าค่าการกลั่นเท่าใดกันแน่ ไม่เช่นนั้นจะไปกล่าวหาว่าโรงกลั่นทำไม่ถูกต้อง
“ผมก็ใจร้อน ประชาชนก็ใจร้อน ก็มีการประชุมกันอยู่วันเว้นวัน ถ้าจบก็จบ หากไม่จบก็ไปดูช่องทางกฎหมายกันต่อไป หากเป็นลิตรละ 8.50 บาท เกินสมควรก็เอากฎหมายออกมาใช้ แต่ตัวเลขของกระทรวงยังไม่ใช่ และสมาคมโรงกลั่นก็มีตัวเลขของเขาที่พิสูจน์ได้อีก”
สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพยังมีมาตรการช่วยเหลือเกี่ยวกับการลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.นี้ จะเสนอให้เข้ามาช่วยดูแลครอบครัวเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อไป ส่วนการพิจารณาค่าเอฟที งวดสุดท้าย ของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) แนวโน้มก็คงปรับขึ้นเป็นขั้นบันได ส่วนจะสูงเท่าใดนั้นก็ต้องไปคุยกันอีกที จากที่ก่อนหน้านี้มีประเมินว่าอาจสูงขึ้นมากกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช.ได้รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีช่วงปี 2563-ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายให้ กฟผ.ช่วยรับภาระค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.64 จนถึงปัจจุบัน ที่เรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8-11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.68 เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลัก 3 ประการ 1.รัฐบาลจะต้องดูแลความมั่นคงเสถียรภาพพลังงาน ไม่ให้เกิดการขาดแคลนหรือขยายตัว 2.จะต้องดูแลราคาพลังงานไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจนมากเกินไป 3.จะดูแลช่วยเหลือครอบครัวหรือกลุ่มเปราะบาง.