นายกฯ เห็นชอบเสนอ ครม. เคาะต่ออายุมาตรการดูแล "ราคาพลังงาน" ไปอีก 3 เดือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

นายกฯ เห็นชอบเสนอ ครม. เคาะต่ออายุมาตรการดูแล "ราคาพลังงาน" ไปอีก 3 เดือน

Date Time: 16 มิ.ย. 2565 19:56 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • นายกฯ เคาะต่ออายุมาตรการดูแล "ราคาพลังงาน" ต่ออีก 3 เดือน เตรียมชง ครม. เพื่อพิจารณา 21 มิ.ย. พร้อมชี้เจรจา "โรงกลั่นน้ำมัน" สำเร็จ ยอมแบ่งกำไรให้รัฐบาลร่วม 24,000 ล้านบาท

Latest


นายกฯ เคาะต่ออายุมาตรการดูแล "ราคาพลังงาน" ต่ออีก 3 เดือน เตรียมชง ครม. เพื่อพิจารณา 21 มิ.ย. พร้อมชี้เจรจา "โรงกลั่นน้ำมัน" สำเร็จ ยอมแบ่งกำไรให้รัฐบาลร่วม 24,000 ล้านบาท

วันที่ 16 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจ เพื่อหารือมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน จากนั้นได้มอบหมายให้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมกันแถลงข่าว

นายดนุชา เผยว่า นายกฯ เห็นชอบให้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย.นี้ ต่ออายุมาตรการลดผลกระทบประชาชนที่ได้รับผลจากราคาพลังงาน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. 2565 โดยจะไม่คงไว้ทั้ง 10 มาตรการเดิม เพราะมาตรการลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมจะไม่มีแล้ว ทั้งหมดนี้ยังคงขอเงินจากงบกลางฯ มาดำเนินการ และยังอยู่ระหว่างสรุปวงเงิน รวมทั้งมีมาตรการใหม่เพิ่มขึ้น ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ บริษัทที่ไปจัดประชุมสัมมนาหรือจัดอีเวนต์ เอ็กซิบิชันในเมืองรองให้นำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และจัดในเมืองหลักลดหย่อนได้ 1.5 เท่า ตั้งแต่ 15 ก.ค.-31 ธ.ค. 2565 ในส่วนนี้รัฐจะเสียรายได้ไป 300-500 ล้านบาท

สำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าก๊าซเอ็นจีวีให้รถแท็กซี่ และส่วนลดก๊าซแอลพีจียังคงมีอยู่ ส่วนการลดค่าเอฟทีให้กับบ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยจะสิ้นสุดในเดือนส.ค. จึงยังไม่เสนอต่ออายุ และมีมาตรการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมัน ให้คงค่าการตลาดไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร รวมทั้งจะขอความร่วมมือปิดไฟป้ายโฆษณาและให้ห้างสรรพสินค้าปิดแอร์ก่อนถึงเวลาปิดห้าง 1 ชั่วโมง

ทางด้านนายกุลิศ เผยว่า รัฐบาลได้เจรจาและขอความร่วมมือโรงกลั่นทุกแห่งทั้งของไทยและต่างชาติ นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของค่าการกลั่นให้กับกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ค.-ก.ย. คิดเป็นวงเงินเดือนละ 7,500-8,000 ล้านบาท รวม 3 เดือนประมาณ 24,000 ล้านบาท โดยเก็บจากกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล เดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท และขอกำไรส่วนเกิน 50% ของโรงแยกก๊าซ เดือนละ 1,500 ล้านบาท

โดยสองส่วนนี้จะนำมาเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเพราะที่ผ่านมาได้นำเงินจากกองทุนฯ ช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มไปเยอะแล้ว ทำให้สิ้นเดือนมิ.ย.นี้ กองทุนฯ จะติดลบแตะ 100,000 ล้านบาท และเงินที่ได้เข้ามาก็ยังไม่เพียงพอเพราะกองทุนฯ ยังมีเงินจ่ายออกอีกเดือนละ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเก็บกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันเบนซินได้เดือนละ 1,000 ล้านบาท ส่วนนี้จะนำมาลดราคาน้ำมันเบนซินได้ลิตรละ 1 บาททันที.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์