คนไทยโดนปล้นจริงหรือ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทยโดนปล้นจริงหรือ

Date Time: 16 มิ.ย. 2565 05:55 น.

Summary

  • กรณ์ จาติกวณิช ออกมาปูดถึงสาเหตุที่ทำให้ ราคาน้ำมันแพง เพราะ ราคาค่ากลั่น ที่ขึ้นราคาถึง 10 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 อยู่ที่ 0.88 บาทต่อลิตร ปี 2564 ยังอยู่ที่ 0.87 บาทต่อลิตร

Latest

ธุรกิจที่ปรึกษาส่ิงแวดล้อมรายได้ฉ่ำ


นานๆ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า จะออกมาปล่อยทีเด็ดที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาทำนองที่ว่า พรรคกล้า เป็นพรรคสำรองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยเช่นกัน ถึงขนาดมีข่าวว่าถ้าปรับ ครม. จะมีการดึงเอา กรณ์ มาเป็น รมต.เศรษฐกิจในรัฐบาลด้วย

เรื่องของอนาคตก็เป็นเรื่องของอนาคตไป แต่เรื่องปัจจุบันน่าสนใจตรงที่ กรณ์ ออกมาปูดถึงสาเหตุที่ทำให้ ราคาน้ำมันแพง เพราะ ราคาค่ากลั่น ที่ขึ้นราคาถึง 10 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 อยู่ที่ 0.88 บาทต่อลิตร ปี 2564 ยังอยู่ที่ 0.87 บาทต่อลิตร พอปี 2565 กระโดดมาที่ 8.56 บาทต่อลิตร ไปเพิ่มตามราคาตลาดน้ำมันสิงคโปร์ ทั้งที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระของกองทุนน้ำมันและภาระของประชาชนไปฉิบ

ตอนนี้เราใช้เงินจาก กองทุนน้ำมัน มาชดเชยราคาหน้าปั๊ม ทำให้สถานะของกองทุนน้ำมันติดลบ มากขึ้นเรื่อยๆเป็นดินพอกหางหมู ไม่ต่ำกว่า 86,000 ล้านแล้ว มีโอกาสทะลุถึง 1 แสนล้านในสิ้นเดือนนี้ ยิ่งราคาน้ำมันดิบแพงเท่าไหร่มีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากเท่าไหร่ กองทุนน้ำมันก็ต้องติดลบมากขึ้นเท่านั้น

หัวหน้าพรรคกล้ายังมีข้อเสนอด้วยว่า ทางออกคือรัฐบาลต้องกำหนดเพดานค่าการกลั่นไม่ให้เป็นการค้ากำไรเกินควร เสนอเก็บภาษีลาภลอยจากบริษัทที่ทำกำไรจากส่วนต่าง และรัฐต้องจริงจังกับมาตรการประหยัดน้ำมัน แน่นอนว่าทั้ง 3 ข้อมีผลกระทบกับกระทรวงพลังงานที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็น รมว.พลังงานและ ปตท. แน่นอนรวมถึงกระทรวงการคลังที่มีหน้าที่เก็บภาษี รมว.คลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ก็หนีไม่พ้นความรับผิดชอบ

หัวหน้าใหญ่หนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุมนโยบายพลังงาน เป็นคนตั้ง รมว.คลังและ รมว.พลังงานที่เป็นโควตากลางของนายกฯ ขว้างงูอย่างไรก็ไม่พ้นคอ จะทำเป็นนิ่งเสียตำลึงทองก็ยิ่งไปกันใหญ่

พูดถึงเรื่องน้ำมันต้นเหตุของแพงทั้งแผ่นดินแล้วก็ต้องพูดถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ย อาจารย์แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน ให้ความเห็นเอาไว้ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่ 3 โดยเฉพาะในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ กนง. มีแนวโน้มจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่อัตรา 0.50% ต่อปี

ควรจะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาปรับตัว การไปฝืนในมาตรการต่างๆไว้อาจไม่ได้สะท้อนสถานการณ์อย่างที่ควรจะเป็น เมื่อฝืนไม่ได้ หากจะต้องขึ้นดอกเบี้ย ไปพร้อมกับราคาสินค้า ที่ปรับเพิ่มขึ้น ถ้าเกิดพร้อมกันสังคมจะเกิดอาการ ช็อก อย่างแน่นอน

สิ่งที่จะต้องเตรียมการในเบื้องต้นคือการแบ่งเบาภาระประชาชน จากปัญหาเงินเฟ้อ ข้าวของแพง ลดความรุนแรงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ที่ปัจจุบันหนี้เสียในครัวเรือนมีอัตราสูงขึ้น ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย ที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งสองความเห็นอาจจะขัดหูท่านผู้นำ

แต่ควรยึดสุภาษิตโบราณ หวานเป็นลมขมเป็นยา ถึงจะไปรอด.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ