กระทรวงพลังงาน ชี้แจงวิธีการคำนวณ "ค่าการกลั่นน้ำมัน" เผยอยู่ระหว่างหารือโรงกลั่นเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 65 นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงถึง 8 บาทต่อลิตรนั้น จากการตรวจสอบโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. โดยค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2565) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร
ในเดือน พ.ค. ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงขึ้นจากในสภาวะปรกติก่อนเกิดระบาดโควิดที่เคยอยู่ที่ประมาณ 2.00-2.50 บาท แต่ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าการกลั่นในตลาดโลก โดยเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดและปัญหาความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
สำหรับค่าการกลั่นน้ำมัน คือ กำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น เป็นต้น ส่วนกำไรของโรงกลั่นยึดโยงกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบและราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้
ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือเพื่อขอความร่วมมือกับโรงกลั่นในการบริหารจัดการสำหรับช่วงที่เกิดวิกฤติด้านราคาพลังงานเช่นในปัจจุบัน การคำนวณค่าการกลั่นน้ำมันของกระทรวงพลังงาน ที่มีการเผยแพร่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้อ้างอิงในภาพรวม ในส่วนของค่าการกลั่นเป็นการบริหารจัดการธุรกิจของแต่ละโรงกลั่น
ทั้งนี้ สนพ. มีวิธีการคำนวณจากส่วนต่างของราคา ณ โรงกลั่น (เฉพาะส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล) ของน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนของปริมาณการผลิตของประเทศ กับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 3 แหล่ง (น้ำมันดิบดูไบ โอมาน และทาปิส) ทั้งนี้ การนำเอาราคาน้ำมันดิบมาหักจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปชนิดเดียวโดยตรง ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นค่าการกลั่นได้ เนื่องจากโรงกลั่นมีผลิตภัณฑ์หลายประเภทที่ได้จากน้ำมันดิบซึ่งมีราคาต่างกัน
"ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยในระดับปกติจะอยู่ที่ประมาณ 2.00-2.50 บาทต่อลิตร สำหรับในช่วงปี 2563-2564 ค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร และ 0.89 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ เพราะโควิดระบาด ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงเนื่องจากมีการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้ค่าการกลั่นอ่อนตัวอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงไม่สามารถนำข้อมูลในช่วงปี 2563 และ 2564 มาเปรียบเทียบได้เนื่องจากเป็นสภาวะที่ไม่ปกติและอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อความได้"
สำหรับในสถานการณ์ปัจจุบัน ค่าการกลั่นที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันอ้างอิงของทุกผลิตภัณฑ์ปรับสูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด
นอกจากนี้ความตึงเครียดทางการเมืองจากสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครนซึ่งนำไปสู่การที่หลายประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทำให้อุปทานในตลาดตึงตัว
ประกอบกับประเทศจีนมีการลดการส่งออกเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้ เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศไทย และที่ผ่านมา รัฐบาลก็พยายามอย่างสุดความสามารถในการใช้กลไกต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการหารือเพื่อขอความร่วมมือกับโรงกลั่นในการบริหารจัดการสำหรับช่วงที่เกิดวิกฤติด้านราคาพลังงานเช่นในปัจจุบันเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน