สศค.ตั้งเป้า 2.49 ล้านล้าน ชี้จีดีพีปี 66 ฟื้น! ดันรัฐจัดเก็บรายได้เพิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สศค.ตั้งเป้า 2.49 ล้านล้าน ชี้จีดีพีปี 66 ฟื้น! ดันรัฐจัดเก็บรายได้เพิ่ม

Date Time: 13 มิ.ย. 2565 06:20 น.

Summary

  • สศค.คาดจีดีพี ปี 66 ฟื้นตัวชัดเจน ดันรายได้รัฐบาลเพิ่ม 3.8%จากปี 65 โดยรายได้หลักมาจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร–ศุลกากร และรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

สศค.คาดจีดีพี ปี 66 ฟื้นตัวชัดเจน ดันรายได้รัฐบาลเพิ่ม 3.8%จากปี 65 โดยรายได้หลักมาจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร–ศุลกากร และรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่รวม 7 เดือนปี 65 จัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าหมาย 3.7% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5%

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ได้คาดการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 ว่า จะเพิ่มขึ้น 3.8% จากปีงบประมาณ 2565 ซึ่ง
ส่วนใหญ่จะมาจากรายได้ของกรมสรรพากรกรมศุลกากร และรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับอานิสงส์ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การประมาณการรายได้ของรัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2566 ที่ตั้งไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาทนั้น เทียบกับปีงบประมาณ 2565 ที่ประมาณการรายได้สุทธิไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท เป็นการประมาณการรายได้ของรัฐบาลที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปีหน้า ซึ่งสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้ โดยคาดว่าปีหน้าจีดีพีของประเทศจะขยายตัว 3.7% ทั้งนี้ เป็นการคาดการณ์ ณ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน พ.ค.65 สภาพัฒน์ได้คาดว่าทั้งปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 3% ปรับลดลงมาจากคาดการณ์เดิม 3.5-4.5% เนื่องจากความไม่แน่นอนของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนเครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 7 ล้านคน

นายพรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากประมาณการรายได้ของกรมสรรพากร กรมศุลกากร และรัฐวิสาหกิจ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจและการค้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้า ที่ขยายตัวตามการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์

คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.2% และการนำเข้าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.9% ในปี 2566 และคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามามากขึ้นในปี 2566 ที่จะเพิ่มการบริโภคให้เศรษฐกิจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเพิ่มขึ้นจากประมาณการรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของรายได้ภาคเอกชนและประชาชน ทั้งนี้ ประมาณการของกรมสรรพากรที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณปัจจุบันที่ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการราว 100,000 ล้านบาท

ส่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพิ่งผ่านวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยมีรายจ่ายรวมอยู่ที่ 3.18 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 75.04% ของงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุน 21.82% และรายจ่ายเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ 3.14% ทั้งนี้ งบประมาณปี 2566 ถือเป็นงบประมาณแบบขาดดุลอีกหนึ่งปี โดยขาดดุล 695,000 ล้านบาท แต่เป็นการขาดดุลที่ลดลงจากปีงบประมาณ 2565 อยู่ 5,000 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมของการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 2564 ถึง เม.ย.2565) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.276 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 45,000 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 3.7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.5% เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรสูงกว่าเป้าหมาย 117,000 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 12.9% ช่วยชดเชยการจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมายของกรมสรรพสามิต ที่ต่ำกว่าเป้า 26,500 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 7.6% จากการที่รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือประชาชน

ส่วนกรมศุลกากรในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณนี้ ยังสามารถจัดเก็บได้เกินกว่าเป้าหมาย 292,000 ล้านบาท หรือเกินกว่าเป้าหมายมา 5% ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ให้รัฐนำส่งเกินกว่าเป้าหมาย 268,000 ล้านบาท หรือเกินกว่าเป้า 3% ขณะที่หน่วยงานรัฐอื่นๆที่ไม่ใช่กรมจัดเก็บภาษีนำส่งต่ำกว่าเป้าหมาย 22,900 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 22%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ