ศาลล้มละลายนัดไต่สวนเจ้าหนี้ "สินมั่นคงประกันภัย" วันที่ 18 ส.ค. 65 นี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ศาลล้มละลายนัดไต่สวนเจ้าหนี้ "สินมั่นคงประกันภัย" วันที่ 18 ส.ค. 65 นี้

Date Time: 23 พ.ค. 2565 11:26 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ศาลล้มละลายนัดไต่สวนเจ้าหนี้ "สินมั่นคงประกันภัย" วันที่ 18 ส.ค. 65 นี้ ลูกค้าที่แจ้งเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ กว่า 3 แสนรายถือเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ด้วย

Latest


ศาลล้มละลายนัดไต่สวนเจ้าหนี้ "สินมั่นคงประกันภัย" วันที่ 18 ส.ค. 65 นี้ ลูกค้าที่แจ้งเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ กว่า 3 แสนรายถือเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ด้วย

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 65 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ตามพ.ร.บ.ล้มละลายฯ โดยเสนอให้บริษัทตัวเอง เป็นผู้บริหารแผนเองนั้น

ล่าสุด ศาลล้มละลาย ได้ส่งหมายไปยังเจ้าหนี้ต่างๆ ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยแล้ว ซึ่งมีเจ้าหนี้หลายประเภท ตั้งแต่ธนาคาร ไปจนถึงเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบที่แจ้งเคลม หรือใช้สิทธิ์เรียกร้องแล้วรวมกว่าสามแสนราย จากกรมธรรม์ทั้งหมด 2 ล้านกรมธรรม์

ทั้งนี้ ศาลจะนัดไต่สวน ผู้ร้อง ผู้คัดค้านในวันที่ 18 ส.ค. 65 นี้ จะมีบรรดาเจ้าหนี้หรือผู้แทน จะเข้ามาคัดค้านหรือไม่ ก็ต้องรอดู ในส่วนของลูกค้าที่เป็นผู้เอาประกันที่มีการแจ้งเคลมแล้ว ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ด้วยกลุ่มหนึ่งหากจะเข้ามาในคดีเองทั้งหมดกว่าสามแสนกว่าคนอาจจะทำได้ยาก แต่อาจรวมตัวกันตั้งตัวแทนเข้ามาดูแลส่วนได้เสียของตนในคดีอาจจะเป็นการดีกว่า ในการแจ้งของศาลจะมีการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และประกาศทางหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย

สำหรับกรณีการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จะคล้ายๆ กับการบินไทย ที่ฟื้นฟูกิจการ จะมีลูกค้าที่บินกับการบินไทยแล้วสะสมไมล์ซึ่งมีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือซื้อตั๋วแล้วแต่มีเลื่อนการเดินทาง ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ทั้งสิ้น และมีจำนวนมาก ก็มีการแบ่งเป็นกลุ่มๆ และตั้งผู้แทน รับมอบอำนาจ เข้ามาในคดี เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูและตั้งผู้ทำแผนฯ แล้ว ก็จะเป็นงานของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

"การฟื้นฟูกิจการ จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ลูกหนี้ เพราะจะทำให้กิจการดำเนินต่อไปได้ ที่อาจทำให้บริษัทที่ฟื้นฟูมีมูลค่ามากกว่าการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันซึ่งจะเป็นกรณีที่บริษัทเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งหากกิจการไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากนัก เจ้าหนี้แต่ละรายอาจจะได้รับชำระหนี้คืนน้อยกว่าที่จะได้รับในการฟื้นฟูกิจการ".


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์