“สุริยะ” ชูยุทธศาสตร์ปั้นสตาร์ตอัพให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ดึงจุดเด่นสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จมาช่วยพัฒนานวัตกรรมร่วม เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ปัญหา ตอบโจทย์ของลูกค้า ต่อยอดในเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน กำชับ “ดีพร้อม” ลุยเติมเต็มระบบนิเวศอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการเติบโตได้ยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดทั้งปีนี้ จะเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (สตาร์ตอัพ) ที่ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากนี้ไปจะมีการปรับรูปแบบและแนวทางให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น ด้วยการดึงเอาจุดเด่นของสตาร์ตอัพส่วนใหญ่ที่เชี่ยวชาญในด้านการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก อย่างมีศักยภาพมาสู่การพัฒนานวัตกรรมร่วม (Co-creation) ที่มีพันธมิตรเอกชนผู้ลงทุนร่วมพัฒนาไปพร้อมๆกัน ทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหา (โซลูชัน) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้สามารถต่อยอด ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
“Co–creation” ติดอาวุธ “สตาร์ตอัพ”
ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ยึดหลักการดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงให้ทุกฝ่ายได้ทำงานร่วมกันและสร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อการคิดค้นโซลูชัน โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรม ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทำให้ภาคเอกชนก้าวทัน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความผันผวนอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น Co-creation จึงเป็นแนวทางเดียวที่ช่วยให้สามารถพัฒนานวัตกรรมได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี ดีพร้อมจึงต้องยึดหลักการนี้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายตั้งแต่การบ่มเพาะและการติดอาวุธเพิ่มเติมทักษะการประกอบการ เพื่อให้เกิดโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ และการเชื่อมโยงไปยังแหล่งเงินทุนคุณภาพ (CVC) สำหรับผู้ประกอบการในระยะเติบโต (Growth stage) ผ่านโครงการดีพร้อมสตาร์ตอัพ คอนเน็ค (DIPROM Startup Connect)
“ในปีนี้จะเน้นการจัดกิจกรรม โดยมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ร่วมสนับสนุนความรู้ การตลาด แหล่งเงินทุน พร้อมทำงานร่วมกันกับสตาร์ตอัพ ล่าสุดมีผู้ประกอบการสตาร์ตอัพได้รับการคัดเลือกจำนวน 17 บริษัท นำเสนอโมเดลธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถต่อยอดมูลค่าธุรกิจได้”
“ดีพร้อมแคร์” เติมเต็มนิเวศอุตสาหกรรม
นายสุริยะกล่าวว่า การส่งเสริมสตาร์ตอัพจากนี้ไปจะทำภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) โดยปรับรูปแบบการส่งเสริมให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถในการเข้าถึงความต้องการของลูกค้า
เป็นหลัก (R-Reformation) ที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายสตาร์ตอัพ โดยการเฟ้นหาสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพจากหน่วยงานเครือข่าย จากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆให้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะของดีพร้อม เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน
ขณะเดียวกัน ในส่วนของเครือข่ายเงินทุน จะเป็นการสร้างเครือข่าย กับบริษัทเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพที่ได้รับการบ่มเพาะผ่านจัดกิจกรรมเครือข่าย นักธุรกิจอุตสาหกรรมและนักลงทุนร่วม (Industry &Investor Forum) เพื่อให้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนเครือข่ายตลาดจะส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานเครือข่ายธุรกิจ อุตสาหกรรมนำโซลูชันของสตาร์ตอัพไปใช้งานจริง เป็นการสนับสนุนนโยบาย Made in Thailand ผ่านกระบวนการสร้างนวัตกรรมร่วม ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่ จำนวน 7 บริษัท ถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนานวัตกรรม
เปิดตัวสตาร์ตอัพที่ก้าวถึงฝั่งฝัน
การดำเนินงานทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดนวัตกรรมทำให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นที่จะร่วมลงทุนแล้วยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสตาร์ตอัพและยังพบว่าจะมีโอกาสเกิดการขยายฐานลูกค้า จากคำแนะนำของภาคเอกชนผู้ร่วมลงทุนที่มีตัวอย่างความสำเร็จ (Success Case) ที่เป็นรูปธรรม เช่น การร่วมมือกันระหว่างบริษัท เอ็นโซล จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมพลังงานให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ของประเทศ และบริษัท ทีไออี สมาร์ท โซลูชัน จำกัด ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ จากโครงการดีพร้อม เจ้าของนวัตกรรมระบบ AI
สำหรับการบริหารจัดการพลังงานในอาคารเพื่อให้สามารถวินิจฉัย จุดสิ้นเปลืองพลังงานในอาคารและแจ้งเตือน ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ที่เป็นระบบควบคุมอัจฉริยะ หรือ Smart Control โดยโจทย์ใหญ่ของบริษัท เอ็นโซล จำกัด คือการคิดค้นบริการใหม่ๆที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการ และพฤติกรรมของลูกค้า
“Co-Creation จึงเป็นทางเลือกที่ใช่ ในวันที่สตาร์ตอัพ ผู้มีความคล่องตัวทางความคิดและเทคโนโลยีได้เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างและพัฒนานวัตกรรม/บริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายโดยสามารถคิดค้นบริการ ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าเป้าหมายของทั้ง 2 บริษัทได้มากถึง 5 บริการใหม่คิดเป็นที่มูลค่าทางการตลาด 100 ล้านบาท”
ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการส่งเสริมสตาร์ตอัพ เพื่อเป็นหัวหอกในการเร่งเครื่องยกระดับการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ ขณะที่สตาร์ตอัพที่เพิ่งแจ้งเกิดและยังต้องการเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อต่อยอดโมเดลธุรกิจ ก็จะมีโครงการดีพร้อม เอ็กซ์ เดลต้า แองเจิลฟันด์ (DIPROM X Delta Angel Fund) เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนคุณภาพ เพื่อเป็นการสร้างการสนับสนุน โดยดีพร้อมได้ร่วมกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ให้การสนับสนุนเงินทุน 20 ล้านบาท พร้อมการฝึกอบรมแบบติวเข้มเพื่อให้สตาร์ตอัพซึ่งส่วนใหญ่เชี่ยวชาญไอเดีย นวัตกรรมให้มีทักษะทางธุรกิจ ง่ายต่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างมีศักยภาพ เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างก้าวหน้าและมั่นคง.