สั่งหามาตรการกระตุ้นเพิ่ม “บิ๊กตู่” มองล่วงหน้า 3 เดือนรับมือผลกระทบยูเครน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สั่งหามาตรการกระตุ้นเพิ่ม “บิ๊กตู่” มองล่วงหน้า 3 เดือนรับมือผลกระทบยูเครน

Date Time: 30 มี.ค. 2565 07:35 น.

Summary

  • ครม.อนุมัติ 10 มาตรการลดภาระน้ำมันแพง สั่ง 4 หน่วยงาน “คลัง–สภาพัฒน์– สำนักงบประมาณ–ธปท.” วางแนวทางปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานโลก

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.อนุมัติ 10 มาตรการลดภาระน้ำมันแพง สั่ง 4 หน่วยงาน “คลัง-สภาพัฒน์-สำนักงบประมาณ-ธปท.” วางแนวทางปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานโลก “ประยุทธ์” ลั่นเป็นทหารต้องประเมินสถานการณ์ ต้องหามาตรการแก้ไขไว้ล่วงหน้า หากเกิดกรณีหมดมาตรการที่ช่วยเหลือ 3 เดือนแล้ว การสู้รบของรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดในทุกเรื่อง ทุกวัน และทุกปีที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้ เรื่องใดที่เป็นเรื่องของความเดือดร้อน เป็นเรื่องความขัดแย้งในฐานะที่เคยเป็นทหารมาก่อนก็จะต้องประเมินวางแผนงานต่างๆตามสมมติฐาน เช่น กรณีสงครามที่เกิดขึ้นจะยาวแค่ไหน และจะเกิดปัญหาอะไรในช่วง 3 เดือนนี้หรือไม่ และถ้าสถานการณ์ต่อไปอีก 3 เดือนจะทำอย่างไร หรือถ้าสถานการณ์รุนแรงมาก มีการสู้รบมากขึ้นจะทำยังไง ดังนั้น ต้องเตรียมแผนงานและการบริหารล่วงหน้า

ขณะเดียวกัน ครม.ได้อนุมัติการดำเนิน 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งต้องอย่าลืมว่าทั้งหมดใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อดูแลประชาชน ทั้งการลดภาษี อุดหนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ถ้าทุ่มงบประมาณทั้งหมดลงไปในปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ปัญหาอื่นจะเกิดตามมาทันที และหลายกระทรวงต้องใช้งบประมาณในภาพรวมหลายอย่างต้องทำต่อเนื่อง จะให้ตัดงบประมาณทั้งหมดก็ไม่ได้

“อยากให้จบโดยเร็วทุกเรื่อง แต่อยู่นอกเหนือการควบคุมของประเทศเรา ความขัดแย้งพร้อมจะเกิดขึ้นทุกเมื่อในโลกใบนี้ และประมาทไม่ได้ แม้ในภูมิภาคของเราเอง ที่ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เราต้องเตรียมความพร้อม สิ่งสำคัญที่สุดคือความพร้อมของคนไทยเราทุกคนในการแก้ปัญหา”

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบการดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน 10 มาตรการ วงเงินรวมที่ใช้ดำเนินการ 80,247 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) 39,520 ล้านบาท ลดการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 35,224 ล้านบาท ใช้งบประมาณ 3,740 ล้านบาท และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ช่วยอุดหนุน 1,763 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 199.96 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อนำไปดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบแก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ในช่วงเดือน เม.ย.- มิ.ย.2565 รวม 3 เดือน ส่วนการช่วยเหลืออื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทยอยนำรายละเอียดเสนอ ครม.ต่อไป

นอกจากนี้ ครม.มอบหมายให้ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย ไปร่วมพิจารณา ติดตามเพื่อปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือประชาชนในมิติต่างๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานในตลาดโลก โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ความพร้อม และความสามารถทางการเงินของรัฐภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

ในการประชุมครั้งนี้ยังมีการอนุมัติมาตรการอื่นๆ อาทิ

1.การดูแลกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการจัดทำแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพงและปุ๋ยขาด รวมถึงปัญหาอาหารสัตว์

2.ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมัน ดีเซลหมุนเร็วเกรดพรีเมียมตั้งแต่ เม.ย.2565 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถยนต์ของผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อลดภาระการสนับสนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

3.การสนับสนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนน้ำมันฯในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุนน้ำมันฯ

4.การดูแลกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาลดอัตราหรืองดจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการต่ออายุทะเบียนรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะในปี 2565.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ