“วงษ์สยาม” เฉือนชนะ “อีสท์วอเตอร์” โครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลัก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“วงษ์สยาม” เฉือนชนะ “อีสท์วอเตอร์” โครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลัก

Date Time: 15 มี.ค. 2565 08:33 น.

Summary

  • กรมธนารักษ์ได้ยืนยัน ตามที่บอร์ดที่ราชพัสดุ ได้ถามย้ำถึงการดำเนินการว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ราชพัสดุ 100% หรือไม่ บอร์ดจึงได้ลงมติ และผลออกมาคือเสียงส่วนใหญ่ 6 เสียง

Latest

ธุรกิจที่ปรึกษาส่ิงแวดล้อมรายได้ฉ่ำ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่ราชพัสดุ เพื่อพิจารณาทบทวนมติ เรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการผลการคัดเลือกเอกชน โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลัก ในภาคตะวันออก ว่า ได้มีกรรมการที่ราชพัสดุเข้าร่วมประชุม 9 คน จากทั้งหมด 12 คน โดยคณะกรรมการ 6 คน มีมติเห็นชอบรับรองผลการประมูล โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 2 ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล โดยกรรมการ 2 คน ให้รอผลคำตัดสินของศาลปกครอง ส่วนอีก 1 คนงดออกเสียง ขณะที่ 3 คนไม่เข้าประชุม และ 1 คน เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าร่วมประมูล เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงไม่เข้าร่วมประชุม ขณะที่อีก 1 คน อยู่ต่างประเทศ อีก 1 คน ติดภาระ ไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมได้ ซึ่งคาดว่าจะเซ็นสัญญาระหว่าง กรมธนารักษ์กับวงษ์สยาม ภายใน 3-4 เดือนนี้

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ยืนยัน ตามที่บอร์ดที่ราชพัสดุ ได้ถามย้ำถึงการดำเนินการว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ราชพัสดุ 100% หรือไม่ บอร์ดจึงได้ลงมติ และผลออกมาคือเสียงส่วนใหญ่ 6 เสียง เห็นชอบรับรองผลการประมูลครั้งที่ 2 ส่วนกรณีที่ผู้ไม่ชนะการประมูลไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ แต่บอร์ดก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และรายได้ของรัฐเป็นหลัก และน้ำก็เป็นเหมือนลมหายใจของภาคตะวันตก จะหยุดส่งน้ำไม่ได้แม้แต่วันเดียว จึงต้องเปิดประมูลเพื่อหาผู้ดำเนินการ ก่อนครบอายุสัมปทานเดิม 2 ปี

“ก่อนการลงมติ ฝ่ายเลขานุการ คือกรมธนารักษ์ ได้อธิบายผลการดำเนินการช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ได้รับสัมปทาน โดยรัฐได้รับผลประโยชน์ตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบันปี 2565 มูลค่า 552 ล้านบาท และสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2566”

นายสันติ กล่าวว่า กฎหมายได้กำหนดให้กรมธนารักษ์ เปิดประมูลได้ก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทาน 2 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ในการดำเนินโครงการ ซึ่งการเปิดประมูลครั้งที่ 1 พบว่าเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) สมบูรณ์ จนไม่ สามารถตัดสินอะไรได้ จึงต้องยกเลิกผลประมูล และต่อมาได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 ผู้ชนะในครั้งแรก ก็ได้เข้าประมูลด้วย โดยวงษ์สยามก่อสร้างเป็นผู้ชนะประมูล เสนอตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เป็นเงิน 25,693 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี หรือคิดเป็น 27% ของค่าน้ำที่บริษัทผู้ถือสัมปทานขายให้เอกชน ที่ 10.98 บาทต่อหน่วย โดยได้สูงกว่าผู้ชนะอันดับ 2 คือ อีสท์วอเตอร์ ที่ให้ผลตอบแทนภาครัฐ 24,212 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

สำหรับอัตราค่าน้ำที่กำหนด ที่ไม่เกิน 10.98 บาทต่อหน่วย และปริมาณน้ำต่อปีที่ 140 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นตัวเลขที่ใช้กับทุกบริษัท ซึ่งทุกบริษัทจะเห็นตัวเลขเดียวกัน และเป็นการแข่งขันที่เปิดเผย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องพิจารณาผลประโยชน์ของรัฐที่ต้องได้รับ โดยวงษ์สยามก่อสร้างได้ให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุดที่ 27% ของราคาค่าน้ำที่ขายในราคา 10.98 บาทต่อหน่วย

“ช่วงเช้าก่อนการประชุม ทางอีสท์วอเตอร์ ได้ยื่นหนังสือที่ตั้งข้อสังเกตและขอความเป็นธรรมจากการยกเลิกผลการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้มีการนำไปเปิดขึ้นจอภาพให้คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประชุมได้พิจารณาไปพร้อมกัน โดยยืนยันว่าทุกอย่างมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ