รัฐเตรียมแผนรับมือสงครามยืดเยื้อ ส.อ.ท.ผวาน้ำมันโลกพุ่ง 200 เหรียญกระทบหนักแน่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รัฐเตรียมแผนรับมือสงครามยืดเยื้อ ส.อ.ท.ผวาน้ำมันโลกพุ่ง 200 เหรียญกระทบหนักแน่

Date Time: 11 มี.ค. 2565 06:45 น.

Summary

  • “คลัง–พลังงาน–ธปท.–ก.ล.ต.” ถกแผนรับมือน้ำมันแพง ขยายเวลาเพิ่มสำรองน้ำมันจาก 60 วัน เป็น 70 วัน ดัชนีความเชื่อมั่น ส.อ.ท.ลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หวั่นน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่ง 180–200เหรียญสหรัฐ

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

“คลัง-พลังงาน-ธปท.-ก.ล.ต.” ถกแผนรับมือน้ำมันแพง ขยายเวลาเพิ่มสำรองน้ำมันจาก 60 วัน เป็น 70 วัน ดัชนีความเชื่อมั่น ส.อ.ท.ลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หวั่นน้ำมันดิบตลาดโลกพุ่ง 180-200 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลจะเกิดผลกระทบรุนแรง ดันรัฐลดภาษีดีเซลเพิ่มอีก ด้านโฆษกรัฐบาลยันน้ำมันในไทยไม่ได้ “แพงที่สุด” ในโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลัง ว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้ร่วมหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง พร้อมด้วยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วมด้วย

นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า ได้ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจและแหล่งเงินที่จะนำมารับมือปัญหาราคาน้ำมันแพง ประเด็นสำคัญต้องคำนึงเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานอย่างเพียงพอ เช่น การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม จาก 60 วัน เป็น 70 วัน และเจรจาหาวัตถุดิบผลิตไฟฟ้ารูปแบบอื่นๆแทน นอกจากนี้ ยังจะหารือถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้รองรับ หากสงครามยืดเยื้อยาวนาน โดยจะแถลงรายละเอียดในวันที่ 11 มี.ค.นี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป และตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และตรึงอัตราค่าไฟรอบใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) โดยล่าสุด ส.อ.ท.ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม จากผู้ประกอบการ 1,242 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประจำเดือน ก.พ. พบว่า ลดเหลือระดับ 86.7 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากกังวลราคาน้ำมันถึง 75.2% ปัญหาการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน 68.5% ความกังวลภาวะเศรษฐกิจในประเทศ 56.8% สภาวะเศรษฐกิจโลก 52.3% อัตราแลกเปลี่ยน 48.3% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 45.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 45.6% ยังคาดหวังว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 97.1 เพราะสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ทำแบบสอบถามเร่งด่วนเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ไปยัง 26 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการค้ากับรัสเซีย ปรากฏว่า ยังมีผลกระทบไม่มาก คิดเป็นมูลค่า 0.38% ของรายได้การส่งออกไปรัสเซีย แต่กังวลราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาก จึงต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการด้านพลังงาน ดูแลราคาไม่ให้กระทบประชาชนและผู้ผลิต ทั้งนี้ หากน้ำมันตลาดโลกเกิน 150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และพุ่งไปถึง 180-200 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกในประเทศจะได้รับผลกระทบรุนแรง จึงควรปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ยังจัดเก็บ 3.20 บาทต่อลิตรลงอีก เพื่อให้ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มิฉะนั้นจะเร่งให้ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับราคาสินค้า

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า มีความพยายามบิดเบือนว่า ราคาน้ำมันของไทยแพงที่สุดในภูมิภาคหรือในโลก ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยราคาขายปลีก ณ วันที่ 9 มี.ค.65 น้ำมันดีเซลโลก เฉลี่ย 39.99 บาท/ลิตร นอร์เวย์ 88.69 บาท/ลิตร ฮ่องกง 82.34 บาท/ลิตร อังกฤษ 69.79 บาท/ลิตร ญี่ปุ่น 42.72 บาท/ลิตร สหรัฐฯ 41.48 บาท/ลิตร สำหรับในอาเซียน สิงคโปร์ 64.14 บาท/ลิตร เมียนมา 43.73 บาท/ลิตร ลาว 37.42 บาท/ลิตร ฟิลิปปินส์ 36.90 บาท/ลิตร อินโดนีเซีย 31.52 บาท/ลิตร เวียดนาม 31.10 บาท/ลิตร กัมพูชา 30.90 บาท/ลิตร ส่วนไทย 29.94 บาท/ลิตร

ด้านราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ราคาโลก เฉลี่ย 42.67 บาท/ลิตร ฮ่องกง 93.49 บาท/ลิตร นอร์เวย์ 88.91 บาท/ลิตร อังกฤษ 67.34 บาท/ลิตร ญี่ปุ่น 48.85 บาท/ลิตร สิงคโปร์ 72.43 บาท/ลิตร ลาว 48.95 บาท/ลิตร เมียนมา 42.78 บาท/ลิตร ฟิลิปปินส์ 41.63 บาท/ลิตร เวียดนาม 39.52 บาท/ลิตร ส่วนไทย เบนซิน 95 อยู่ที่ 46.76 บาท/ลิตร และแก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 39.35 บาท/ลิตร สำหรับก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนราคาโลกเฉลี่ย 47.41 บาท/กก. สวีเดน 81.48 บาท/กก. อังกฤษ 56.50 บาท/กก. เกาหลีใต้ 54.89 บาท/กก. อินเดีย 52.17 บาท/กก. ออสเตรเลีย 52.13 บาท/กก. ฟิลิปปินส์ 45.30 บาท/กก. กัมพูชา 37.65 บาท/กก. ไทย 18.87 บาท/กก. รัสเซีย 12.78 บาท/กก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ