ค้านนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เสรี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ค้านนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เสรี

Date Time: 11 มี.ค. 2565 06:30 น.

Summary

  • กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่เรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น เพราะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่เรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น เพราะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนรุนแรงขึ้น ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งกระทบต่อการผลิต และอาจมีผลต่อราคาเนื้อสัตว์ หมู ไก่ ไข่ไก่ ตามมาได้ หลังจาก พิจารณาเสร็จแล้วจะเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พิจารณาอีกครั้ง

“ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ กรมยังไม่ได้อนุมัติตามข้อเสนอของผู้ผลิตอาหารสัตว์อย่างที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้จบที่การตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์ฝ่ายเดียว ต้องหารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง ภาคเอกชน และเกษตรกรด้วย เพื่อดูว่าจะทำได้หรือไม่ และมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะข้าวสาลีที่มีแหล่งเพาะปลูกใหญ่อยู่ที่ยูเครน แต่กระทรวงจะดูแลให้เกษตรกร และประชาชนได้รับผลกระทบน้อยสุด ขณะนี้กรมได้กำหนดให้อาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุม และเพิ่มมาตรการให้ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้า รายงานปริมาณ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดมาให้กรมทุกเดือน และหากจะปรับราคา ต้องแจ้งให้กรมอนุญาตก่อน ไม่สามารถขึ้นราคาได้เองอย่างเสรี จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใดปรับขึ้นราคา

ด้านนายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข่าวที่กรมปศุสัตว์จะให้นำเข้าข้าวสาลี กากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยเสรี ไม่จำกัดปริมาณ รวมถึงยกเลิกสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดในประเทศที่ 3 ต่อ 1 เพื่อแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และขาดแคลนว่า ไม่เห็นด้วย ข้อเสนอนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะมันสำปะหลังในประเทศมีเพียงพอต่อการผลิตอาหารสัตว์ ใช้ทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดได้ ช่วยลดการขาดดุลการค้าของไทยรวมถึงไม่ทำให้เกษตรกรและผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์อื่นเดือดร้อน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ