ความร้อนแรงของสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังอยู่ในช่วงการรุกคืบของฝ่ายรัสเซียส่งกองกำลังทหารทยอยบุกยึดเมืองสำคัญๆของยูเครน เป้าหมายหลักยังเป็นกรุงเคียฟ เมืองหลวง
เพื่อเผด็จศึก “โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี” ประธานาธิบดียูเครน แบบม้วนเดียวจบ ก่อนจะเปิดโต๊ะเจรจา
แต่ดูท่าแล้วยังไม่ง่าย คงยืดเยื้อไปอีกพอสมควร
เมื่อวานเขียนทิ้งท้ายถึงการเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิด โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย
ก็พอดีที่ “จินางค์กูร โรจนนันต์” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช.) แถลงถึงตัวเลขอัตราการว่างงาน
พบว่า สถานการณ์การว่างงานในไตรมาส 4 คือไตรมาสสุดท้ายของ ปี 2564 อยู่ที่ 1.64% นับเป็นการว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด หรือตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่มีผู้ว่างงานอยู่ 6.3 แสนคน
ขณะที่แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีการว่างงานเพิ่มขึ้น 4.1% โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ในระดับอุดมศึกษา หรือระดับปริญญาตรี มีสัดส่วนถึง 49.3% ของผู้ว่างงานทั้งหมด
ถือเป็นตัวเลขที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563
ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบทางด้าน สังคมศาสตร์ ธุรกิจ การบริหาร และพาณิชย์
ด้านสถานการณ์แรงงานปี 2564 มีการจ้างงานรวม 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.2%
โดยเพิ่มจากภาคเกษตรกรรม 1.8% จากการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเข้ามาทำงานในสาขานี้
ทางด้านแนวโน้มตลาดแรงงานในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากโควิด “โอมิครอน” ไม่รุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อได้
แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ 1. การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการควบคุมการระบาด ต้องเน้นให้เกิดมาตรการทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่มเอสเอ็มอี
2.การขยายตัวของแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น ต้องออกมาตรการจูงใจให้คนกลุ่มนี้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบ
3.ภาระค่าครองชีพของประชาชนที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564 ส่งผลทำให้แรงงานมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น
และ 4. การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาและผู้ว่างงานระยะยาวยังมีอัตราที่สูง
สำหรับตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีลดลงเล็กน้อยอยู่ระดับ 89.3% ของจีดีพี
แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้เสีย NPLs เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้ครัวเรือนอาจส่งผลหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นได้
ที่ต้องจับตาคือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว
สรุปคือประชาชนคนไทยยังต้องปากกัดตีนถีบกันต่อไป.
เพลิงสุริยะ