กรมสรรพสามิต คาด ลดภาษีดีเซล 3 เดือนทำรัฐขาดรายได้ 17,000 ล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กรมสรรพสามิต คาด ลดภาษีดีเซล 3 เดือนทำรัฐขาดรายได้ 17,000 ล้านบาท

Date Time: 18 ก.พ. 2565 12:36 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • กรมสรรพสามิต เผย 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 จัดเก็บภาษีได้กว่า 186,553 ล้านบาท ประเมินลดภาษีดีเซล 3 เดือนทำรัฐขาดรายได้ 17,000 ล้านบาท

Latest


กรมสรรพสามิต เผย  4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 จัดเก็บภาษีได้กว่า 186,553 ล้านบาท ประเมินลดภาษีดีเซล 3 เดือนทำรัฐขาดรายได้ 17,000 ล้านบาท 

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 65 ที่ผ่านมามา นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 (ต.ค. 64-ม.ค. 65) กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้ จำนวนทั้งสิ้น 186,553 ล้านบาท ซึ่งรายได้ภาษีสรรพสามิตทุกประเภท โดยเฉพาะภาษีน้ำมัน รถยนต์ และเบียร์ มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง กรมสรรพสามิตได้ชะลอการปรับปรุงโครงสร้างภาษีใหม่ แต่มุ่งเน้นออกมาตรการภาษีเพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ได้แก่

1. มาตรการขยายระยะเวลาสำหรับสินค้าสุราสามทับที่นำไปทำการแปลงสภาพเพื่อเพิ่มปริมาณเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในราคาที่เหมาะสมและมีปริมาณเพียงพอ

2. มาตรการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น เพื่อช่วยเหลือสายการบินภายในประเทศให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ลดการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการบินและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ

3. มาตรการขยายระยะเวลาการขึ้นอัตราภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 เพื่อเป็นการเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและชะลอการปรับราคาสินค้าต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อย

4. มาตรการอนุมัติฉลากสินค้าสุราผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักรในการยื่นคำขอใช้ฉลากปิดภาชนะบรรจุสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและเพื่อให้การอนุมัติฉลากเป็นไปด้วยความรวดเร็วสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

5. มาตรการภาษีสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ประเภทน้ำมันชีวภาพสังเคราะห์ (Renewable Diesel : RD) เพื่อช่วยเหลือรายได้เกษตรกร นำผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น

6. มาตรการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบและเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบโดยให้มีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับกับโครงสร้างภาษีบุหรี่ซิกาแรตตามมูลค่าแบบอัตราเดียวในอนาคต

7. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่สำหรับผู้ประกอบการรายเดิม ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.65 ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจประกอบกิจการได้ตามปกติอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการจัดเก็บภาษีเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิต เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังอย่างยั่งยืน

อาทิ การพัฒนาระบบ Direct Coding และ E-stamp ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสินค้าสุรา เบียร์ และยาสูบ รวมถึงการนำระบบ e-Lock เพื่อควบคุมและตรวจสอบการส่งออกน้ำมัน มาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนภายในประเทศ เป็นต้น

สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ในอัตรา 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันเก็บที่ราคา 5.99 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือนนั้น ที่เริ่มในวันนี้ (18 ก.พ.65) นั้นจะทำให้รายได้ของกรมหายไปประมาณ 17,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 5,700 ล้านบาท

นายลวรณ กล่าวอีกว่า แต่เราแลกกับการที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ถูกกระทบด้วยต้นทุนทางด้านพลังงานที่สูงเกินไป ซึ่งจะส่งผลดีในภาพกว้างของเศรษฐกิจ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ กลับมาดำเนินการได้ ท้ายที่สุดจะกลับคืนมาในรูปแบบภาษี ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจโต รายได้จากการจัดเก็บภาษีจะโตมากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งเราหวังว่าภาพนี้จะเกิดขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ