นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 4/2564 ว่า ปี 2565 จะเป็นปีทองของการเดินหน้าฟื้นฟูอนาคตท่องเที่ยวให้ดีขึ้น แต่ธุรกิจท่องเที่ยวยังเป็นสภาพที่เพิ่งออกจากห้องไอซียู เพราะ 84% ของสถานประกอบการทั้งหมด มีพนักงานเหลืออยู่ไม่เกินครึ่ง ของที่เคยมีมาก่อนเกิดโควิด-19 และ 77% ของธุรกิจที่พักแรม มีพนักงานที่เหลืออยู่ไม่เกินครึ่ง หัวใจสำคัญที่จะทำให้พลิกฟื้นท่องเที่ยวได้ ต้องมีการจัดตั้งทัวริสซึม คลินิก ขึ้นมาฝึกทักษะพนักงานใหม่ๆ และรัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้
“เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนระยะฟื้นตัวปีนี้ จึงเสนอให้รัฐบาลขยายเวลาเงินอุดหนุน ค่าจ้างแรงงานเอสเอ็มอี เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อรักษาการจ้างงาน (คนละ 3,000 บาท จำนวน ลูกจ้างสูงสุด 200 คน), สนับสนุนค่าจ้างพนักงานใหม่ที่เป็นนักศึกษาที่จบใหม่ภายใน 5 ปี เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในช่วง ฟื้นฟู 50% ของเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท, ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 2% ตลอดจนลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 90% สำหรับ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งมีศักยภาพด้อยกว่าธุรกิจอื่นอย่างชัดเจน รวมทั้งขยายเวลาการใช้ขาดทุนสะสมจาก 5 ปี เป็น 10 ปี”
น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวเท่ากับ 47 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยว อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด แต่พลิกฟื้นดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3/2564 ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 7 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 1/2565 เท่ากับ 63 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ คาดสถานการณ์ท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้นมาเล็กน้อย แต่ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2565 คือวิกฤติของแรงงานท่องเที่ยว และปี 2564 มีสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปิดถาวร 6% ของสถานประกอบการทั้งหมด และรายได้ในภาพรวมไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 18% จากสภาวะปกติ ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/2564 ที่ 10% และไตรมาส 3/2564 ที่ 9% แต่ยังต่ำกว่าไตรมาส 1/2564 ที่ 22%
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรม/ที่พัก ที่เปิดทำการ 57% ยังมีอยู่ในสภาวะขาดทุนหรือไม่มีกำไร แต่เปิดเพื่อประคองธุรกิจและรักษาแรงงานเอาไว้ ส่วนรายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 80,926 บาท/คน/ทริป ซึ่งสูงกว่าก่อนที่จะมีโควิด-19”.