ปิดอาคเนย์-ไทยประกันภัย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปิดอาคเนย์-ไทยประกันภัย

Date Time: 1 ก.พ. 2565 06:44 น.

Summary

  • “เจอ จ่าย จบ” กลายเป็นกระแสยึดพื้นที่สื่ออีกครั้ง เมื่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขอเลิกกิจการ

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

“เจอ จ่าย จบ” กลายเป็นกระแสยึดพื้นที่สื่ออีกครั้ง เมื่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอเลิกกิจการและคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

มูลเหตุสำคัญเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่พุ่งไม่หยุด ทำยอดเคลมประกันโควิดฉุดไม่อยู่เช่นกัน ล่าสุดบริษัทประกันภัยรวม 14 ราย ที่ขายกรมธรรม์ประกันโควิด-19 มียอดเคลมสินไหมรวมทะลุ 40,000 ล้านบาท

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ปิดกิจการไปเพราะแบกรับภาระไม่ไหวไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหม เจอ จ่าย จบ

และแม้ว่ากรมธรรม์ประกันโควิด-19 เจอ จ่าย จบ ลอตใหญ่สุดกำลังจะครบอายุความคุ้มครองในเดือน เม.ย.นี้!!! แต่สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยหวาดวิตก อยู่ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ปะทุรวดเร็ว หากคนไทยติดเชื้อวันละ 20,000 คนอีกรอบ ยอดเคลมเจอ จ่าย จบ จะอยู่ที่เดือนละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องปิดตัวอีกหลายราย

ทำให้เกิดแรงผลักดันผ่านสมาคมประกันวินาศภัยไทย เรียกร้องให้ คปภ.ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ที่ห้ามบริษัทประกันภัยยกเลิกประกันโควิด-19 โดยบริษัทประกันพร้อมคืนเบี้ยประกันให้ทั้งหมด

แต่แรงผลักดันไม่เป็นผล เมื่อ คปภ.ยืนกรานคำสั่งห้ามยกเลิกประกันโควิด-19 ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยอมให้ผู้เอาประกัน 10 ล้านรายถูกลอยแพ แถมกำชับหากบริษัทประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์จะขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและถูกฟ้องร้องได้

จากนั้นสงครามข่าวสารระหว่างเอกชนและหน่วยงานกำกับดูแลก็ปะทุขึ้น สมาคมประกาศวินาศภัยไทยออกจดหมาย “เปิดมุมมองเบื้องลึกปมปัญหาประกันภัยโควิด-19 ใครกันที่ลอยแพประชาชน” ระบุการยกเลิกกรมธรรม์เป็นมาตรฐานสากล กรมธรรม์โควิด-19 ที่ผ่านการอนุมัติจาก คปภ. มีเงื่อนไขใช้สิทธิ์บอกเลิกกรมธรรม์ได้ และหากบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต ถูกปิดกิจการ กรมธรรม์ประกันโควิด-19 ก็ต้องถูกยกเลิก

ส่วนฝั่งของสำนักงาน คปภ.ก็ไม่น้อยหน้า สวนกลับทันควันด้วยการรวบรวมการยกเลิกกรมธรรม์ของหลากหลายประเทศชี้ให้เห็นว่าไม่มีประเทศไหนยกเลิกกรมธรรม์แบบเหมาเข่ง

ข้อถกเถียงทะลุจุดเดือดไปสู่การต่อสู้โดยใช้กฎหมาย เมื่อบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัยของเจ้าสัวเจริญ ยื่นฟ้องนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ต่อศาลปกครองกลางในข้อหาออกคำสั่งนายทะเบียน สั่งห้ามบริษัทประกันยกเลิกประกันโควิด-19 เจอ จ่าย จบ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลปกครองกลางได้ไต่สวนคู่ความไปเรียบร้อยแล้ว ยังไม่มีคำพิพากษา รอพิจารณาหลักฐานให้ครบถ้วน จากนั้นจะประกาศว่าจะรับพิจารณาคดีหรือไม่ จึงยังต้องลุ้นระทึกต่อไปว่า ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งชี้ขาดคำสั่งนายทะเบียนที่ห้ามยกเลิกประกันโควิด-19 เจอ จ่าย จบ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เคสนี้บริษัทอาคเนย์ประกันภัย บริษัทไทยประกันภัย และบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ร่วมกันยื่นโนติสมายัง คปภ. เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้นกว่า 10,000 ล้านบาท

ระหว่างรอกระบวนการศาล บริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัยยังได้รุกคืบต่อ ยื่นหนังสือขอเลิกกิจการต่อสำนักงานคปภ. และขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยด้วยความสมัครใจ

พร้อมแนบเหตุผล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นใหญ่เติมเงินเข้ามาใหม่ 10,000 ล้านบาท จ่ายเคลมประกันโควิด-19 ไปแล้ว 9,900 ล้านบาท ขณะที่สถานะการเงินล่าสุดมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท มีเงินกองทุนอยู่ที่ 170% สูงกว่ากฎหมายกำหนด สามารถจ่ายเงินคืนผู้เอาประกันภัยตามจำนวนวันที่อายุกรมธรรม์เหลืออยู่ได้ครบทุกราย มีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้า และจ่ายเงินพนักงานลูกจ้างทุกคน

ส่วนบอร์ด คปภ.แม้มีมติรับคำขอเลิกกิจการของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย และบริษัท ไทยประกันภัย แต่กำหนดเงื่อนไขต้องแจ้งรายชื่อบริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ให้ คปภ.เห็นชอบ โดยสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ที่โอนไป ต้องเท่ากับหรือไม่ด้อยกว่าความคุ้มครองเดิม อธิบายง่ายๆ อาคเนย์และไทยประกันภัยจะเลิกกิจการก็ได้ แต่ความคุ้มครองกรมธรรม์ทุกชนิด รวมทั้งประกันโควิดยังต้องเดินหน้าต่อไปจนสิ้นสุดอายุ

เพราะการยอมให้จ่ายเบี้ยประกันที่เหลือคืนให้กับผู้เอาประกันเท่ากับว่าเป็นการเปิดหวอให้เอกชนสามารถยกเลิกการคุ้มครองประกันโควิดได้ก่อนที่กรมธรรม์จะสิ้นสุด

งานนี้จึงเป็นการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างฝ่ายกำกับดูแลและเอกชนที่แสนจะเข้มข้นและน่าติดตาม ว่าสุดท้ายใครจะเป็นผู้ชนะ.

ประพัฒน์ เนตรอัมพร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ