สรรพากรผ่อนปรนภาษีคริปโต นำผลขาดทุนหักกลบกำไร-เว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สรรพากรผ่อนปรนภาษีคริปโต นำผลขาดทุนหักกลบกำไร-เว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย

Date Time: 29 ม.ค. 2565 06:15 น.

Summary

  • “สรรพากร” ผ่อนปรนเว้นเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ที่อยู่ภายใต้กำกับ ก.ล.ต. ทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังให้นำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรในปีภาษีเดียวกัน เผยบัญชีซื้อขายสินทรัพย์

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

“สรรพากร” ผ่อนปรนเว้นเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ที่อยู่ภายใต้กำกับ ก.ล.ต. ทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังให้นำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรในปีภาษีเดียวกัน เผยบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโตแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันมี 1.98 ล้านราย มูลค่า 114,539 ล้านบาท รอคู่มือเสียภาษี วันที่ 31 ม.ค.นี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้แทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะ กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมมีแนวทางและมาตรการผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล (คลิปโต) ดังนี้ 1.การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) จากเงินได้พึงประเมินนั้น กรมสรรพากรเสนอให้ออกกฎกระทรวง นำผลขาดทุนมาหักกลบกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน โดยต้องทำการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.เท่านั้น

2.การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่าน Ex change ภายใต้ ก.ล.ต. จะไม่มีภาระภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด 3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้ ก.ล.ต.และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“การประกอบธุรกิจ และการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันจาก 240 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท และมีบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 170,000 ราย เป็น 1.98 ล้านราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า ในอนาคตกรม สรรพากร จะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ศึกษาแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ การแก้ประมวล รัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน Exchange เพื่อเป็นผู้หักภาษี และนำส่งกรมสรรพากร รวมถึงการเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีเฉพาะสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น

“ขอย้ำว่าการทำงานร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาบริหารการจัดเก็บภาษีที่ตองสนอง ความต้องการของทุกภาคส่วน ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะทำให้กฎหมายภาษีอากรไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และยังคงรักษาหลักการจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยยืดถือประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน”

ทั้งนี้ จะมีการจัดทำคู่มือชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี โดยจะดำเนินการเผยแพร่ในวันที่ 31 ม.ค.2565 นี้

นายเอกนิติกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและได้ส่งแบบสอบถามให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในเรื่องจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 3,000 ราย โดย 82% เป็นผู้มีเงินได้จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีเงินจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อมาเพื่อเก็งกำไร โดยเกือบ 90% ทราบมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลของตนอย่างชัดเจน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ