นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ปัจจุบันวงเงินของรัฐบาลที่คงเหลือในการรับมือและแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 เหลืออยู่ประมาณ 113,043 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม (เพิ่มเติม) ปี 2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงินโควิดฯ จากกรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท คงเหลืออยู่ 103,343 ล้านบาท และงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นสำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 อีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
“สถานการณ์ในปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ ไม่ได้รุนแรงเหมือนในช่วงที่เกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ขณะที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กำลังจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ทำให้มีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยเพิ่มเติม ทำให้สามารถที่จะใช้วงเงินที่มีอยู่ในการดูแลเศรษฐกิจแลประชาชนได้”
ส่วนวงเงินตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.กู้เงินโควิดฯที่เป็นส่วนแผนงาน/โครงการที่ 1 ในเรื่องของสาธารณสุขที่วงเงินเหลืออยู่น้อยมาก ในทางปฏิบัติสามารถที่จะโยกเงินจากบัญชีที่เหลืออยู่ มาใช้ในบัญชีที่ 1 ได้หากมีความต้องการใช้ในเรื่องสาธารณสุขเพิ่มเติมได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. อนุมัติใช้เงินกู้ ใน 4 โครงการ ได้แก่ คนละครึ่ง ระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 วงเงิน 53,222 ล้านบาท ทำให้วงเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิดฯ คงเหลืออยู่ 103,343 ล้านบาท จากก่อนที่จะอนุมัติมีวงเงินคงเหลือ 156,266 ล้านบาท
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โครงการคนละครึ่งที่มีการเห็นชอบเป็นโครงการที่ออกมาเพื่อรักษาระดับการบริโภคของประชาชน ซึ่งช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพของประชาชนได้ด้วย.