ธปท.แจง 4 ข้อเสี่ยงเศรษฐกิจสะดุด จี้แบงก์ปล่อยกู้ใหม่-ลดหนี้คนไทยรับโอมิครอน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.แจง 4 ข้อเสี่ยงเศรษฐกิจสะดุด จี้แบงก์ปล่อยกู้ใหม่-ลดหนี้คนไทยรับโอมิครอน

Date Time: 12 ม.ค. 2565 06:57 น.

Summary

  • ผู้ว่าการ ธปท. ชี้ 4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 65 สั่งเกาะติดแบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่-ปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย รับมือวิกฤติรอบใหม่โอมิครอน

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

ผู้ว่าการ ธปท. ชี้ 4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 65 สั่งเกาะติดแบงก์ปล่อยสินเชื่อใหม่-ปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย รับมือวิกฤติรอบใหม่โอมิครอน ยันมาตรการการเงินมีพอแล้วไม่ต้องออกเพิ่ม แต่ที่มีอยู่ต้องทำให้ได้จริงๆ และพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้เศรษฐกิจไทยโตได้ไม่สะดุด

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 และการเดินหน้าฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจไทยในส่วนของ ธปท.ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวที่ไม่เร็ว ไม่แรง ขยับช้าๆ มีความเปราะบางค่อนข้างมาก ขณะที่หลุมรายได้ที่หายไปของคนไทยน่ากังวลมากขึ้น ดังนั้น โจทย์หลักและหน้าที่ธปท. คือจะทำอย่างไรให้การฟื้นตัวช้าๆที่เป็นอยู่ไปต่อได้ไม่สะดุด

“ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้มีอยู่ 4 ความเสี่ยง เรื่องแรกคือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอน ซึ่ง ธปท.ประมาณการว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่มาเร็วและไปเร็ว จบภายในครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์โอกาสที่เศรษฐกิจจะสะดุดมีไม่มาก แต่หากการระบาดลากยาวออกไป หรือมีสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากกว่าเกิดขึ้น โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากอาจกระทบเศรษฐกิจสะดุดได้”

ขณะที่ความเสี่ยงที่ 2 ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า คือการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และปัญหาเสถียรภาพราคา โดย ธปท.มองว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงาน และราคาอาหารบางประเภท แต่ยังไม่ได้สูงขึ้นในภาพรวม หรือเป็นการเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น และจากการสอบถามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้ายังไม่มาก แต่ ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ หากเกิดปัญหาเสถียรภาพราคาหรือเงินเฟ้อสูงจนเกินกรอบเป้าหมายจะมีเครื่องมือที่จะเข้าไปดูแล

สำหรับความเสี่ยงที่ 3 ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เป็นความกังวลการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือ NPL Cliff โดยภาวะเช่นนี้ความสามารถของลูกหนี้และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีแย่ลงและเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ซึ่ง ธปท.ได้เตรียมการรับมือไม่ให้กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน และเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนความเสี่ยงที่ 4 คือความเสี่ยงที่มาจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมทั้งความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดพันธบัตร จากการเปลี่ยนนโยบายของหลายธนาคารกลาง ซึ่งจะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจจะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการไทย

“อย่างไรก็ตาม มุมนี้ประเทศไทยหน้าตาหล่อมาก เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในระดับที่ดี หนี้ต่างประเทศไม่สูง ทุนสำรองต่างประเทศสูง การระดมทุนของผู้ประกอบการไทย 90% เป็น การขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ 10% เป็นการระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรและเป็นรายใหญ่ ซึ่งรับความเสี่ยงได้มากกว่า”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า จากความเสี่ยงทั้งหมด ธปท.มีหน้าที่หลักในการดูแลให้ระบบสถาบันการเงินทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อ และช่วยลดภาระการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เช่น เอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้เหลือวงเงินอีก 100,000 ล้านบาทที่จะปล่อยเพิ่มได้ โครงการพักทรัพย์พักหนี้ให้สินเชื่อไปแล้ว 37,000 ล้านบาท ขณะที่การดูแลไม่ให้เกิดหนี้เอ็นพีแอลสูง ธปท.ได้ออกโครงการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ซึ่งยืดหยุ่นให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ได้หลายครั้ง เปลี่ยนเงื่อนไขได้ หากสถานการณ์ทางการเงินเปลี่ยนไปจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ลูกหนี้ยังคงผ่อนส่งหนี้ต่อไปได้ รวมทั้งยังมีโครงการรวมหนี้ เอาหนี้ดอกเบี้ยต่ำที่มีหลักประกันมารวมกับหนี้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ยรวมที่ลูกหนี้ต้องส่งได้ และในช่วงปลายเดือนนี้จะออกโครงการร่วมทุนการจัดการหนี้เสียระหว่างธนาคารพาณิชย์ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้สามารถดูแลหนี้เสียได้ดีขึ้น

“หากพิจารณามาตรการที่ ธปท.ออกมาเพื่อช่วยลูกหนี้น่าจะเพียงพอต่อการรับมือความเสี่ยง แต่จุดที่สำคัญคือ การเร่งรัดให้เกิดการปฏิบัติ และผลสำเร็จจริงต่อลูกหนี้ โดยในปีนี้ ธปท.จะไม่เน้นจุดพลุออกมาตรการมากๆ แต่จะเน้นให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามมาตรการที่มีอยู่ให้ได้จริง โดยจะมีการตั้งเป้าหมาย ทั้งการปรับหนี้ระยะยาว การรวมหนี้ให้กับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง และติดตามให้เป็นไปตามเป้าหมายจริง ซึ่งข้อดีคือธนาคารมีความเข้มแข็งพอที่จะดำเนินการ แต่ต้องตั้งใจทำจริงจัง และหากมีปัญหาหรืออุปสรรค หลักการของ ธปท.คือจะยืดหยุ่นไม่ยึดติด เปลี่ยนแปลงมาตรการหรือกฎเกณฑ์ให้เป็นไปตามสถานการณ์ตอบโจทย์การแก้ปัญหา โดยเชื่อว่าหากทำ 2 เรื่องนี้ไปด้วยกันจะประคองลูกหนี้ต่อไปได้ เพื่อรอให้มาตรการด้านอื่นๆช่วยให้รายได้คนไทยกลับมา”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ