เจ๊จงหมูทอดแบกไม่ไหว ประกาศปรับราคาข้าวหมูทอด-ข้าวแกงเมนูละ 3-4 บาท เปิดใจต้นทุนวัตถุดิบปรับสูงเป็นประวัติการณ์ ด้านเหล่าแม่ค้าเขียงหมูโอดลูกค้าหายจ้อย ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งแก้ปัญหาหมูแพงทั้งระบบแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่คลองเตย นางจงใจ กิจแสวง หรือเจ๊จง เจ้าของร้านหมูทอดและข้าวแกงชื่อดัง ติดป้ายแจ้งลูกค้าขอปรับราคาอาหารขยับขึ้นเมนูละ 3-4 บาท โดยนางจงใจกล่าวว่า เหตุที่ต้องขอ ปรับราคา เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบทุกอย่างขยับปรับราคาขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะเนื้อหมูสด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของทางร้านที่ต้องใช้ถึง 200-300 กิโลกรัม/วัน แค่เฉพาะสาขาคลองเตย อาหารบางเมนู บางตัวก็ต้องใช้วิธีลดปริมาณลง เพื่อให้ตนเองอยู่ได้และลูกค้าก็อยู่ได้ แต่ก็ได้แจ้งทางลูกค้าทุกครั้งที่มีการปรับราคาหรือปริมาณ
วันเดียวกัน ที่ตลาดนัมเบอร์วัน ราม 2 เขตประเวศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 นางจิราพร ศิริกัญยา เจ้าของร้านหมูยุ้ย กล่าวว่า ได้รับผลกระทบมาก เพราะเนื้อหมูหน้าฟาร์มมีแนวโน้มขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ลอตใหม่ก็จะขึ้นราคาอีกกิโลกรัมละ 10 บาท ขณะที่ลูกค้าประจำของร้านลดลงถึง 50% ทั้งกลุ่มลูกค้าขายส่งและขายปลีก อยากให้รัฐบาลรีบออกมาตรการช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ตรึงราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์ม ไม่เช่นนั้นไม่เกินสัปดาห์หน้าราคาเนื้อหมูชำแหละอาจขึ้นไปกิโลกรัมละ 300 บาทแน่นอน
เช่นเดียวกับ น.ส.คณิศร โพธิ์เจริญ แม่ค้าแผงหมูอีกราย กล่าวว่า กำลังซื้อเนื้อหมูหายไปมาก ตั้งแต่ราคาเนื้อหมูมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงตอนนี้กิโลกรัมละ 220-250 บาทแล้ว ตอนนี้ขายแทบขาดทุน เพราะไม่สามารถปรับราคาขายได้ทุกชิ้นส่วน เช่น พวกหนังหมู มันหมู และ เครื่องในหมู หากขึ้นราคาก็ไม่มีคนซื้อ
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบสถานการณ์ราคาหมูแพง และได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดูแล แก้ไขราคาหมูแพงทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้เลี้ยงหมูถึงการจัดจำหน่ายแล้ว
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมปศุสัตว์และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมทั้งผู้เลี้ยงสุกร ถึงสถานการณ์ราคาหมูแพง เพื่อหาทางแก้ไขว่า พบว่าสาเหตุที่ราคาปรับสูงขึ้น กรมปศุสัตว์ชี้แจงว่า ปกติปริมาณหมูขุนในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านตัว แต่ในปี 64 ได้ปรับลดลงเหลือ 19 ล้านตัว เพราะผู้เลี้ยงขาดความมั่นใจและแรงจูงใจในการนำเข้า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปริมาณบริโภคในประเทศลดลง ราคาไม่จูงใจและต้นทุนค่าบริหารจัดการฟาร์มในการควบคุมโรคระบาดในหมูและต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกร (CSF) ทำให้ปริมาณหมูขุนลดลง 15% โดยได้ข้อสรุปให้กรมปศุสัตว์ไปเร่งดำเนินการทั้งด้านวัคซีนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีปริมาณสุกรกลับเข้าสู่ระบบ ส่วนกระทรวงพาณิชย์ได้ขยายโครงการจุดขายหมูกิโลกรัมละ 130 บาททั่วประเทศด้วย
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 95-96 บาท และยังมีโอกาส ขยับขึ้นไปเกิน กก.ละ 100 บาท โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ที่มีราคาสูงกว่าภาคกลางและกรุงเทพฯ ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูหน้าเขียงจะเพิ่มเป็น กก.ละ 200 บาท โดยจากการติดตามสถานการณ์ราคาหมูของกรมการค้าภายในพบว่าหมูเนื้อแดงไม่ตัดแต่งในตลาดสดทั่วๆไปอยู่ที่ 160-180 บาท/กก. และกรณีที่เป็นเขียงหรือตลาดสดเล็กๆที่รับมาเป็นทอดที่ 2 หรือที่ 3 จะมีราคาปรับสูงขึ้นอีก 10-20 บาท/กก. สำหรับห้างค้าปลีกค้าส่งราคาจำหน่ายปลีกอยู่ที่ 139-145 บาท/กก.