ทรู-ดีแทค ถกควบรวมกิจการ ลุ้นปิดดีล 2.5 แสนล้านบาท ขึ้นเบอร์ 1 แซงเอไอเอส

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทรู-ดีแทค ถกควบรวมกิจการ ลุ้นปิดดีล 2.5 แสนล้านบาท ขึ้นเบอร์ 1 แซงเอไอเอส

Date Time: 20 พ.ย. 2564 06:01 น.

Summary

  • เทเลนอร์ยอมรับกำลังเจรจาซีพี ถึงความเป็นไปได้ในการควบรวมธุรกิจมือถือ ระหว่างทรูและดีแทค แต่ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร รอยเตอร์ประเมินมูลค่า 2 บริษัทรวมกัน 2.5 แสนล้านบาท

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เทเลนอร์ยอมรับกำลังเจรจาซีพี ถึงความเป็นไปได้ในการควบรวมธุรกิจมือถือ ระหว่างทรูและดีแทค แต่ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร รอยเตอร์ประเมินมูลค่า 2 บริษัทรวมกัน 2.5 แสนล้านบาท ฐานลูกค้ารวมทะลุ 50 ล้านเลขหมาย แซงหน้าเอไอเอส เบอร์ 1 ทันที ขณะที่ทรู-ดีแทค แจ้งตลาดฯ ยังไม่มีประเด็นชี้แจงต่อเรื่องนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ว่า กลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอม มูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออันดับ 3 ของประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างเจรจา ถึงแนวทางการควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้ บริการเครือข่ายมือถืออันดับ 2 ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เทเลนอร์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ระบุในแถลงการณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ และยังไม่รู้ว่าการเจรจาจะจบลงเช่นไร

ผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1

รอยเตอร์รายงานอีกว่า หากข้อตกลงการควบรวมกิจการระหว่างทรูของซีพีและดีแทคของเทเลนอร์บรรลุเป้าหมาย จะถือเป็นการประกาศควบรวมกิจการมือถือในเครือเทเลนอร์ ครั้งที่ 2 สำหรับปีนี้ หลังจากเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 เทเลนอร์เพิ่งประกาศความสำเร็จในการควบรวมกิจการมือถือในมาเลเซีย ระหว่างเทเลนอร์ (ในนาม Digi) และ Axiata มูลค่ากว่า 15,000 ล้านเหรียญฯ ภายใต้บริษัทใหม่ MergeGo เทเลนอร์และ Axiata ถือหุ้นเท่ากันที่ 33.1% ด้วยจำนวนฐานลูกค้ารวม 19 ล้านเลขหมายข้อมูลจาก Refinitiv Eikon (แพลตฟอร์มสำหรับดูข้อมูลการเงิน) ระบุ ปัจจุบันดีแทคมีมูลค่าบริษัทราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ทรูมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับว่าข้อตกลงนี้จะมีมูลค่ารวม 7,500 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท (ที่อัตรา แลกเปลี่ยน 32.7 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)และเป็นการผนึกฐานลูกค้าของทั้ง 2 ค่ายรวมกันทะลุ 50 ล้านเลขหมาย (ทรู 32 ล้านรายและดีแทค 19.3 ล้านราย) สูงกว่าฐานลูกค้าของเอไอเอส มือถืออันดับ 1 ซึ่งอยู่ที่ 43.7 ล้านเลขหมายทันที

วันเดียวกัน หลังการเปิดเผยข่าวการเจรจาของรอยเตอร์ นางสาวยุภา วงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้แจ้ง ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีข่าวที่ปรากฏในสื่อเกี่ยวกับทรูและดีแทคนั้น หากมีข้อชี้แจงใดๆ ที่ทรูมีหน้าที่ต้องแจ้งตลาดฯ ทรูจะดำเนินการในโอกาสต่อไป เช่นเดียวกันกับดีแทค ซึ่งนางสาวณภัทร ธัญญกุลสัจจา Head of Company Secretary Department ของดีแทค ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า หลังจากมีกระแสข่าวที่คาดการณ์ในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับดีแทคและทรู ตลาดหลักทรัพย์ฯจะได้รับการชี้แจงจากดีแทค ตามที่ กำหนดตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯให้ทราบต่อไป

จุดสิ้นสุดข่าวหลุดแห่งปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แถลงการณ์ของเทเลนอร์ ซึ่งถูกเปิดเผยโดยรอยเตอร์ ถือเป็นจุดสิ้นสุดข่าวที่หลุดออกมาเป็นระยะๆ ตลอดปีที่ผ่านมา ว่าทรูกำลังเจรจาเข้าซื้อกิจการดีแทค ซึ่งจากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้รับการยืนยันว่ามีความพยายามจากทางฝั่งทรูจริง แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เนื่องจากดีแทคไม่ยอมขาย สอดคล้องกับที่นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ปเคยกล่าวไว้ในงานสัมมนาออนไลน์ “Preparing for the next pandemic” เมื่อเดือน ต.ค.64 ว่า เทเลนอร์อยู่ในเมืองไทยมา 20 ปีแล้วและยังจะอยู่ต่อไปอีก 20 ปี จนนำไปสู่การประกาศว่ากำลังมีการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการระหว่างกัน แต่ยังไม่รู้ว่าจะจบเช่นไร

เปิด 3 รูปแบบควบกิจการ

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนายการฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า กระแสข่าวการเจรจาระหว่างกลุ่มซีพีกับเทเลนอร์ ยังไม่มีรายละเอียดและข้อมูลออกมาอย่างเป็นทางการ หากให้สมมติฐานถึงรูปแบบที่จะเกิดขึ้นระหว่าง 2 ค่ายนี้ มีโอกาส 3 รูปแบบ คือ 1.กรณีทรูซื้อกิจการของดีแทคทั้งหมด 2.ทรูกับดีแทคควบรวมกิจการกัน เป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา 3.การจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกัน เช่น ให้ดีแทคมาร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับทรู เช่น เช่าใช้เสาสัญญาณเครือข่ายเน็ตเวิร์ค ของทรู ที่ทรูได้มีการลงทุนไปจำนวนมาก แต่ยังมีการใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพหรืออาจยังใช้งานไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน น่าจะเป็นประโยชน์หรือเป็นผลดีต่อทั้ง 2 บริษัท ทำให้ทรูมีรายได้เงินสดจากค่าเช่าเพิ่มเข้ามาและทำให้เงินลงทุนคุ้มค่ามากขึ้น ส่วนดีแทคก็จะมีเครือข่ายเน็ตเวิร์คมากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุน

“ไม่ว่าดีลจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะแตกต่างกัน โดยกรณีที่
1-2 จะทำให้เหลือบริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคม 2 ราย อาจทำให้การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงลดลงจากปัจจุบันที่มีผู้แข่งขัน 3 ราย ที่แข่งขันด้านราคากัน จนทำให้มาร์จิ้นหรือกำไรลดลง หากเหลือ 2 รายใหญ่ก็จะดีต่อผู้ประกอบการทั้ง 2 รายทำให้มีกำไรมากขึ้น จากการแข่งขันที่ลดลง”

ส่วนผลดีต่อดีแทคและทรู ทั้งกรณีทรูซื้อดีแทค หรือกรณี 2 บริษัทควบรวมกิจการกัน และมีบริษัทใหม่เกิดขึ้น น่าจะดีต่อทั้งทรูและดีแทค ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกันเกิดขึ้น จากต้นทุนที่จะลดลง เพราะบริษัทใหม่หรือบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการกัน จะมีคลื่นครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ การลงทุนสร้างเครือข่ายก็จะลดลง ไม่ต้องต่างคนต่างสร้าง ต่างลงทุน ค่าบริหารจัดการค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆก็จะลดลง แต่ผู้บริโภคก็อาจจะเสียประโยชน์จากการแข่งขันที่ลดลง ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องติดตามต่อไป เพราะยังไม่มีอะไรออกมาที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ปัจจุบันเอไอเอส มีส่วนแบ่งการตลาด คิดจากรายได้อยู่ที่ 46.4% ดีแทค 22.2% และ ทรู 31.4% หากทรูกับดีแทครวมกัน จะมีส่วนแบ่งการตลาด 53.5% แม้จะพลิกมาเป็นอันดับ 1 แต่ก็ไม่หนีกันมากกับเอไอเอส ส่วนเครือข่ายของทรูเมื่อรวมกับดีแทค เมื่อเทียบกับเอไอเอส ก็ใกล้เคียงกัน ด้านจำนวนลูกค้า ณ สิ้นไตรมาส 3 ของดีแทคอยู่ที่ 19.27 ล้านราย ทรู 32.01 ล้านราย และเอไอเอส 43.65 ล้านราย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ