กพช.ไฟเขียวลดจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนอนุรักษ์พลังงาน” จากน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา แก๊สโซฮอล์ เหลือครึ่งสตางค์ต่อลิตร ส่งผลปี 65 จัดเก็บเพียง 145–150 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 3,500 ล้านบาท พร้อมกู้เงินโปะกองทุนน้ำมันไม่เกิน4 หมื่นล้านบาท โดยต้องหักวงเงินสะสมของกองทุนน้ำมันปัจจุบันที่ 7,000 ล้านบาทออกก่อน ทำกู้เพิ่มได้อีก 3.3 หมื่นล้านบาท ทยอยกู้ลอตแรก 2 หมื่นล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา จากเดิมที่เก็บอัตรา 10 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 0.005 บาท (ครึ่งสตางค์) ต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือภายในปี 65 ส่งผลให้การเก็บเงินเข้ากองทุนจะเหลือ 145-150 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันที่เก็บได้ 3,500 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปี 66-67 จะเก็บอัตรา 0.05 บาท (5 สตางค์) ต่อลิตร โดยมีผลทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการจ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 65-67 เหลือปีละ 4,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ยังสามารถส่งเสริมโครงการเพื่ออนุรักษ์พลังงาน หรือพัฒนาพลังงานทดแทนได้ทั่วประเทศรวม 76 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพฯ) โดยจะจัดสรรงบประมาณให้ 25 ล้านบาทต่อจังหวัด รวม 1,900 ล้านบาท ซึ่งสัปดาห์หน้า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) จะอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ และกำหนดกรอบเป้าหมายการส่งเสริมใน 7 กลุ่ม อาทิ กลุ่มงานตามกฎหมาย กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน เป็นต้น
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะประชุมเพื่ออนุมัติแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ จากนั้นจะเปิดให้แต่ละหน่วยงานยื่นเสนอขอใช้งบประมาณเข้ามา โดยยังเปิดช่องทางให้ยื่นผ่านพลังงานจังหวัดเพื่อกลั่นกรองก่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.65 มั่นใจว่า วงเงินที่จัดสรรไว้ 4,000 ล้านบาท จะเพียงพอสำหรับโครงการที่ยื่นเสนอเข้ามาได้
ขณะเดียวกัน กพช.ยังเห็นชอบให้ทบทวนแผนรองรับวิกฤติด้านน้ำมัน ปี 63-67 เพื่อรองรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้ โดยให้การบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน ต้องมีเงินเพียงพอเพื่อให้บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดกรอบตามมาตรา 26 พ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน พ.ศ.2562 ว่า หากจำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติม เมื่อรวมกับเงินของกองทุนน้ำมันที่มีอยู่แล้ว จะสามารถกู้ได้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน เงินในกองทุนเหลือ 7,000 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะสามารถกู้เงินเพิ่มได้อีก 33,000 กว่าล้านบาท แต่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติว่า ในระยะแรก จะกู้ได้เพียง 20,000 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท PETRONAS LNG LTD., เพราะสถานการณ์แอลเอ็นจีปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับ เงื่อนไขสัญญา ได้เปิดช่องให้คู่สัญญาเปิดเจรจาทบทวน (Price Review) ได้ในระหว่างปีที่ 5 ของสัญญา ดังนั้น ปตท. จึงขอเจรจาในปีนี้ เพื่อให้ปรับลดราคาลง โดยผลการเจรจาสามารถปรับลดสูตรราคา LNG SPA ลงเฉลี่ย -7% หรือเหลือเพียง 8 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากเดิมที่มีสัญญาซื้อขาย 8.6 เหรียญฯต่อตัน
“กรณีนี้ ช่วยลดต้นทุนจัดหาแอลเอ็นจีได้ 900-1,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 4,500-5,000 ล้านบาทในปี 65-69 และส่งผลให้สามารถนำไปลดต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประมาณ 0.42 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนมีแนวโน้มลดลง โดย กพช. มอบให้ ปตท. เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป”
นายกุลิศ กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบฟีด อิน ทารีฟ (FiT) ปี 65 โดยเห็นชอบอัตรารับซื้อแบบ FiT ในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย และสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10-50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศด้วย.