นายกฯปลื้ม “ฟิตช์ เรตติ้งส์” ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในปีหน้า จากอัตราการฉีดวัคซีนโควิด–19 ที่เพิ่มขึ้น หอการค้าไทยย้ำรัฐคลายล็อกช่วยปลุกกำลัง ลดความเสียหายภาคเศรษฐกิจโดยรวม
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าต่อผลการวิเคราะห์ของบริษัท Fitch Ratings (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Rating Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ได้ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นภายในปี 2565 โดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง และสภาพแวดล้อมจากทั่วโลกที่มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทไทยรายใหญ่ต่างๆมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐ มนตรีและ รมว.กลาโหม ยินดีกับผลการประเมินดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของภาคเอกชนในต่างประเทศที่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล และการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลพร้อมจะต่อยอดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่ง สอดรับกับการเจรจากับต่างประเทศ และในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ในเวทีโลก ควบคู่กับการพัฒนาด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุมให้ทันต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลคำนึงถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่สาธารณสุขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการประกาศเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุดจนเห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการเปิดโครงการ Phuket Sandbox นำร่องการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว จนขยายเป็นโครงการอื่นๆ และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 นี้ อีกทั้งการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีศักยภาพ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค โครงการรถไฟความเร็วสูง และการส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับโมเดล เศรษฐกิจ BCG Economy เป็นต้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นการดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวหลังประชุมร่วมกับ ศบค.ว่า การผ่อนคลายมาตรการรอบวันที่ 16 ต.ค.นี้ เบื้องต้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่า จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 1,000-2,000 ล้านบาทต่อวัน เพราะมีทั้งผ่อนคลายกิจการ และขยายเวลาเปิดดำเนินการ ทำให้คาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ จะลดลงตามลำดับ หรือลดลงเหลือ 40,000-70,000 ล้านบาทต่อเดือน จากเดือน ส.ค.ที่มีการระบาดรุนแรง และล็อกดาวน์หลายพื้นที่สร้างความเสียหายสูงถึง 300,000-400,000 ล้านบาทต่อเดือน และเดือน ก.ย.ที่รัฐผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ความเสียหายลดลงมาอยู่ที่ 100,000-200,000 ล้านบาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ในการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และการเตรียมเปิดประเทศนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีข้อเสนอ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ภาครัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และสื่อสารขั้นตอนการเดินทางเข้าไทยที่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง รวมถึงการเดินทางภายในประเทศ จังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง
2.การเปิดสถานประกอบการ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และมีมาตรฐานเดียวกันตามพื้นที่เสี่ยง พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าจะมีการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนการกระจายฉีดวัคซีนเพิ่มเติมทั้งเข็ม 2 และเข็ม 3
3.ใช้ระบบและมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับ เพื่อติดตามนักเดินทาง โดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ ซึ่งจะเกิดความสะดวก รวดเร็วปลอดภัย และรองรับปริมาณนักเดินทางได้มากขึ้น
4.รัฐควรเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายรายได้ พร้อมไปกับการรักษาการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปีนี้ อาจไม่สามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็ว.