ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เรื่องการกำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต้องไม่เกิน 70% ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันที่ 29 ก.ย.เห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามแผนประกอบด้วยแผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,344,783 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,505,369 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ วงเงิน 339,291 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังประเมินว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2565 ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะนี้ จะอยู่ที่ 62.69% ซึ่งไม่เกิน 70% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะกรอบใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
“กระทรวงคลังคาดว่า การลงทุนในแผนงานโครงการต่างๆตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย โดยรัฐบาลยืนยันว่า แผนการบริหารหนี้สาธารณะที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ครั้งนี้ไม่ใช่การขอกรอบวงเงินกู้เพิ่มเติมแต่อย่างใดโดยแผนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ, การกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี, การกู้เงินภายใต้แผนงานตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 และการกู้เงินเพื่อการลงทุน”.