คมนาคม ดีเดย์ขยายใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. เฟส 3 อีก 8 เส้นทาง ในเดือน มี.ค. 65 เซ็น MOU ใช้งบฯ จาก กปถ. 503 ล้านบาท ปรับปรุงถนน เพื่อให้สอดรับกับการใช้ความเร็ว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ว่า ภายหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้ออก “กฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564” ซึ่งเปิดให้ผู้ขับขี่รถใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึงทางต่างระดับอ่างทอง เป็นเส้นทางแรก เมื่อ 1 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ตามนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็ว จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ล่าสุดก็ได้เปิดเส้นทางนำร่องอีก 6 เส้นทางในระยะที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการปรับอัตราความเร็วดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้กรมทางหลวง ปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม จะมีการขยายความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะที่ 3 จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 152 กม. โดยจะเริ่มในเดือน มี.ค. 65 โดยจะเป็นถนนของกรมทางหลวง 6 เส้นทาง ระยะทาง 87.972 กม. ได้แก่
1. ทล. 1 ช่วงหนองแค - หินกอง - ปากข้าวสาร - แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค กม. 79+000 - 105+000 ระยะทางประมาณ 26 กม.
2. ทล. 9 ช่วงบางแค - คลองมหาสวัสดิ์ กม. 23+000 - 31+872 ระยะทางประมาณ 8.872 กม.
3. ทล. 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี - ต่างระดับเชียงรากน้อย กม. 1+000 - 10+000 ระยะทางประมาณ 10 กม.
4. ทล. 35 ช่วงนาโคก - แพรกหนามแดง กม. 56+000 - 80+600 ระยะทางประมาณ 24.6 กม.
5. ทล. 4 ช่วงเขาวัง - สระพระ กม. 160+000 - 167+000 ระยะทางประมาณ 7 กม.
6. ทล. 4 ช่วงเขาวัง - สระพระ กม. 172+000 - 183+500 ระยะทางประมาณ 11.5 กม.
และ ถนนของกรมทางหลวงชนบทอีก 2 เส้นทาง ระยะทาง 64.1 กม. ได้แก่
1. นบ. 3021 (ถนนราชพฤกษ์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางประมาณ 51.7 กม.
2. นบ. 1020 (ถนนนครอินทร์) ตลอดเส้นทาง ระยะทางประมาณ 12.4 กม.
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ขนส่งทางบกจะสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถและถนน (กปถ.) ให้ ทล. และ ทช. จำนวน 503 ล้านบาท นำไปพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ปรับปรุงถนน เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนถนนหลวงได้
อย่างไรก็ตาม การนำนโยบายใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวง สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และรุนแรงลงได้ ซึ่งจากสถิติพบว่าลดอุบัติเหตุได้กว่า 15%.