8 สมาคมธุรกิจ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ช่วยคลายล็อก ศูนย์การค้าฯ คอมมูนิตี้มอลล์ ธุรกิจประเภทต่างๆ และสนามกอล์ฟ หลังแบกรับต้นทุนไม่ไหว คาดเสียหายกว่า 7 แสนล้าน
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา นางศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ เคอี กรุ๊ป จำกัด ในฐานะกรรมการสมาคมศูนย์การค้าไทย และผู้แทนคณะทำงาน 8 สมาคมธุรกิจ ได้รับมอบหมายจาก นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านอาหาร และร้านค้าประเภทต่างๆ มีมูลค่าโดยรวมกว่า 7 แสนล้านบาทและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย
ดังนั้น 8 สมาคมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมศูนย์การค้าไทย, สมาคมธุรกิจร้านอาหาร, กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมคลินิกเอกชน, สมาคมวิชาชีพช่างผมไทย, สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย, สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และสมาคมสนามกอล์ฟไทย ยื่นหนังสือเรื่องนำเสนอแนวทางการลดระดับการล็อกดาวน์ เพื่อรักษาสภาพเศรษฐกิจ พร้อมนำเสนอแนวทางการเปิดศูนย์การค้าฯ คอมมูนิตี้มอลล์ และธุรกิจต่างๆ ในศูนย์การค้า และสนามกอล์ฟ ภาคเอกชนพร้อมทำตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้มาใช้บริการ
โดยได้ยื่นเอกสารต่อ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ ผอ.ศปก.ศบค. และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาการปลดล็อกเป็นระยะและมีแผนการปลดล็อกที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว และให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า โดยอาจใช้เกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับต่างประเทศ เช่น อัตราได้รับการฉีดวัคซีนของประชาชน
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการและลูกจ้างประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก และข้อเท็จจริงพบว่า สาเหตุของการติดเชื้อที่มาจากศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และสนามกอล์ฟนั้นต่ำมาก ประชาชนโดยรวมนั้นมีความเข้าใจมากขึ้น ในการดูแลด้านสุขอนามัย ตระหนักในการเดินทางและการเคลื่อนย้ายซึ่งจะกระทำเมื่อมีความจำเป็น
นางศุภานวิต กล่าวอีกว่า จากกรณีศึกษาในหลายประเทศ อาทิ รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ อิสราเอล มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้มีการปลดล็อกให้ศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร และสนามกอล์ฟ เปิดให้บริการตามปกติกันมาตั้งแต่เดือน ก.พ.64 เป็นต้นมา ใช้เกณฑ์การได้รับวัคซีนของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีตั้งแต่ 45% - 70% ของประชากร
โดยพบว่า แนวโน้มของผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตเป็นไปในทิศทางที่ลดลงตามลำดับ เมื่อนำประเทศไทยมาเปรียบเทียบ พบว่า กรุงเทพฯ มีประชากรกว่า 80% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเช่นกัน และประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าหลายประเทศ
ปัจจุบัน ร้านค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ลูกค้าที่ Work From Home มีความจำเป็นและต้องการสินค้าประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนั้นมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่แสดงสินค้า อีกทั้งศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์มีมาตรการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวแบกรับภาระต้นทุนต่างๆ มากมาย อาทิ ต้นทุนค่าจ้างพนักงาน ต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ต้นทุนอื่นๆ เพื่อนำมาหมุนเวียนกิจการ หากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน เชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดปัญหาเลิกจ้างงานจำนวนมาก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับ กรุงเทพฯ มีสัดส่วนภาคบริการสูง หากภาครัฐจัดการให้มีวัคซีนที่เพียงพอและมีทางเลือกที่ดี อาจผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น Vaccine Destination ให้กับประเทศข้างเคียงในภูมิภาคได้อีกทางหนึ่งด้วย.