Moody’s คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ Baa1 ให้มุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ บริหารจัดการหนี้สาธารณะแข็งแกร่ง และมีหนี้ระยะยาวช่วยสนับสนุนภาคการคลังให้เข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่าบริษัท Moody’s Investors Service หรือ Moody’s ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย หรือ Sovereign Credit Rating ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ หรือ Stable Outlook โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ประเทศไทยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่และหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี และอุตสาหกรรมส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนประเทศไทยยังเป็นฐานของเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวที่โดดเด่นและมีชื่อเสียง อีกทั้งการจ้างงาน รายได้ และผลที่เกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ประเทศไทยมีความสามารถที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ (Economic Shock) และฐานการเงินภาครัฐที่แข็งแกร่งทำให้มีพื้นที่ทางการคลังที่รองรับแรงกระทบจาก Economic Shock ได้
นอกจากนี้ Moody’s คาดว่าการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะช่วยเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนและอุปสงค์ภายในประเทศในระยะ 2 – 3 ปีข้างหน้า และการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจะดึงดูดธุรกิจใหม่และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ Moody’s คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 และ ปี 2565 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 2 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยและเศรษฐกิจโลกและในระยะยาวการระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในวงจำกัด
2. ภาคการคลังสาธารณะ หรือ Public Finance ของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากเป็นผลจากนโยบายและการบริหารจัดการทางการคลังที่โปร่งใส รอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อีกทั้งหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) มีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity: ATM) ค่อนข้างยาว คือ 11 ปี มีหนี้ระยะสั้น (Short – Term Debt) อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 8 และมีสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก (น้อยกว่าร้อยละ 2) เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Baa peers) เช่น อินเดีย ฮังการี เม็กซิโก คาซัคสถาน อินโดนีเซีย โคลัมเบีย ฟิลิปปินส์ บัลแกเรีย และปานามา เป็นต้น ที่มีค่ากลางของหนี้สกุลเงินต่างประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง (High Debt Affordability)
3. ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความเข้มแข็ง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและสามารถนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในอนาคต อีกทั้งนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพโดยสามารถคงอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Moody’s ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ ความสำเร็จของการดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ปัญหาโครงสร้างประชากรสูงอายุ (Ageing Population) และปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (Labor Skills)
โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย คือ ปัจจัยทางการเมืองที่อาจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาในระยะยาว การชะลอตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและภาคการคลังของประเทศ