นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ประเมินสถานการณ์สินทรัพย์ของเกษตรกร หลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามหนี้ครัวเรือนประเทศ และตัวแปรอื่นๆ โดยเฉพาะจากนโยบายของภาครัฐ อาทิ พักหนี้ และการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ขณะที่หนี้สินเกษตรกรปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยที่ 262,317 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16.54% จากปี 2563 ที่มีหนี้สิน 225,090 บาทต่อครัวเรือน
ทั้งนี้ หนี้สินเงินกู้ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ของการกู้คือ ค่าปัจจัยการผลิต วัสดุอุปกรณ์การเกษตร สัดส่วน 37.55% กลุ่มค่าแรงงาน ค่าซ่อมซื้อ เครื่องจักรเกษตร ค่าเช่า สัดส่วน 17.05% ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สัดส่วน 15.59% หนี้สินเดิม สัดส่วน 5.35% กู้เพื่อการศึกษา สัดส่วน 3.73% และกู้เพื่อใช้นอกการเกษตร เช่น ซื้อสินค้า บริการต่างๆ เป็นต้น สัดส่วน 20.72%
ส่วนรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรปี 2564 มีรายได้ 408,099 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.54% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวมเฉลี่ย 390,376 บาทต่อครัวเรือน แบ่งเป็น รายได้เงินสดในภาคเกษตร 190,065 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 3.07% และรายได้เงินสดนอกการเกษตร ซึ่งรวมเงินช่วยเหลือของภาครัฐแล้วมีรายได้ 218,034 บาทต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.86% จากปีก่อนที่มีรายได้นอกภาคเกษตร 205,967 บาทต่อครัวเรือน
นายฉันทานนท์กล่าวอีกว่า สศก.ได้ประเมินรายได้เงินสดทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีผลผลิตด้านการเกษตรหลายตัวราคาอาจปรับตัวลดลงหลายตัว อาทิ ไก่เนื้อ น้ำนมดิบ ส่วนกลุ่มสัตว์น้ำแนวโน้มราคาลดลงเล็กน้อย ขณะที่ข้าวมีแนวโน้มราคาเฉลี่ยลดลงประมาณ 3% กลุ่มพืชไร่ สินค้าที่ราคาลดลงและต้องเฝ้าระวัง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน หอม กระเทียม มันฝรั่ง อย่างไรก็ตามสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มไม้ผล ไม้ยืนต้น ยังเป็นสินค้าที่ราคาสูงขึ้นจากปีก่อน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ลำไย และสินค้าที่ราคาลดลงและต้องเฝ้าระวัง เช่น เงาะ มังคุด ส่วนกลุ่มปศุสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้น เช่น สุกร โคเนื้อ ไข่ไก่ เป็นต้น.