พักหนี้ “เอสเอ็มอี-รายย่อย” 2 เดือน ต่อลมหายใจลูกหนี้กระทบโควิด-ล็อกดาวน์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พักหนี้ “เอสเอ็มอี-รายย่อย” 2 เดือน ต่อลมหายใจลูกหนี้กระทบโควิด-ล็อกดาวน์

Date Time: 16 ก.ค. 2564 07:15 น.

Summary

  • คลัง-ธปท.-แบงก์ไทย-แบงก์นอก-แบงก์รัฐ ประสานพลังประกาศพักหนี้ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอีและรายย่อย ที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 ต้องปิดกิจการเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มงวดเดือน ก.ค.ขณะที่ขอความร่วมมือ

Latest

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

คลัง-ธปท.-แบงก์ไทย-แบงก์นอก-แบงก์รัฐ ประสานพลังประกาศพักหนี้ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอีและรายย่อย ที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 ต้องปิดกิจการเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มงวดเดือน ก.ค.ขณะที่ขอความร่วมมือให้นอนแบงก์ช่วยลูกหนี้ตามแนวทางดังกล่าวด้วย ลูกหนี้ที่เดือดร้อนติดต่อเจ้าหนี้ด่วน ตั้งแต่ 19 ก.ค.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาด ของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันมาตรการเพื่อลดภาระหนี้ของลูกหนี้ในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่ โดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามนโยบายกระทรวงการคลังมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 ตามความสมัครใจ แต่สถานการณ์การระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น จึงได้ยกระดับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้เอสเอ็มอี และรายย่อยเป็นเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศ ทั้งลูกหนี้ที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดและนอกพื้นที่ควบคุม แต่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ

โดยจะเริ่มต้นการพักชำระหนี้งวดแรกตั้งแต่ งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค.2564 หรือเดือน ส.ค เป็นต้นไปแล้วแต่กรณี และเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ทันที เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ ลูกหนี้ที่สนใจติดต่อสถาบันการเงินผ่านช่องทางที่มีระยะห่างทางสังคมเพื่อลดโอกาสการระบาดของโควิด-19 เช่น แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ศูนย์บริการลูกค้าของสถาบันการเงิน เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2564 เป็นต้นไป

นายอาคม กล่าวต่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ก็ได้ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้เอสเอ็มอี และรายย่อยเป็นระยะเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมในลักษณะเดียวกัน ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ซึ่งได้แก่ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ ขอให้มีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้

“กระทรวงการคลังจะติดตามผลการดำเนินงาน และประเมินประสิทธิภาพของมาตรการอย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้ เสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจาก ธปท.ว่า ลูกหนี้ส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องปิดกิจการ และต้องการรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามแนวทาง ข้างต้น สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2564 โดยหากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยเจ้าหนี้ทำได้อย่างรวดเร็ว โดย ธปท.ขอย้ำว่า การพักชำระหนี้ภายใต้มาตรการนี้ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือขั้นต่ำ ซึ่งลูกหนี้สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ และสถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้มากขึ้นตามความเหมาะสม

ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (nonbank) ให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้ไปพร้อมกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ขอให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหารีบติดต่อผู้ให้บริการทางการเงินที่ใช้บริการอยู่เพื่อรับความช่วยเหลือและหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ ผู้ให้บริการทางการเงินโดยตรง หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร.1213 อย่างไรก็ตามการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชําระหนี้ได้ จึงควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคต เพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนหน้า ที่ควรดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ