“กนศ.” ชง “ครม.” ไฟเขียวไทยเข้าร่วมสมาชิก “ซีพีทีพีพี” เร็วๆนี้ ย้ำได้ประโยชน์มาก ถ้าไม่เข้าร่วมสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจแน่ แต่หลายเสียงรุมค้าน ถ้าไทยเข้าร่วม หายนะเกิด เหตุยังมีประเด็นอ่อนไหว ที่ยังไม่พร้อมแข่งขันและยังไม่ได้ปิดจุดอ่อน แนะศึกษาให้รอบคอบ และทำเอฟทีเอกับประเทศใหม่ๆดีกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธาน ได้นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) มาศึกษาเพิ่มเติมถึงผลดี ผลเสีย และข้อห่วงใยกรณีที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีเสร็จสิ้นแล้ว และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าไทยควรเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่แล้ว คาด ครม.จะพิจารณาเร็วๆนี้ โดยกนศ.เห็นว่าไทยควรเข้าเป็นสมาชิก เพราะจะได้รับประโยชน์มาก แต่หากไม่เข้าจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่าไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมซีพีทีพีพีจริงหรือไม่ และประโยชน์ที่จะได้รับ จะคุ้มค่ากับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ รวมถึงประชาชน และประเทศหรือไม่ เพราะปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอกับสมาชิกซีพีทีพีพีแล้วถึง 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ บรูไน ชิลี มาเลเซีย เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม จากทั้งหมด 11 ประเทศ เว้นเพียงแคนาดา และเม็กซิโก แต่ในเดือน ก.ย.นี้ อาเซียนเตรียมประกาศจัดทำเอฟทีเอกับแคนาดา เหลือเพียงเม็กซิโกเท่านั้น ดังนั้น สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดทั้ง 10 ประเทศได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิก เพื่อขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดสมาชิกซีพีทีพีพี
นอกจากนี้ กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนไทยเข้าเป็นสมาชิกต้องปรับปรุงจุดอ่อน หรือเตรียมความพร้อมด้านความสามารถในการแข่งขันในทุกมิติของการค้า แต่ขณะนี้ไทยปรับปรุงและเตรียมความพร้อมแล้วหรือไม่ หากรัฐบาลยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ก็ไม่ควรเข้าเป็นสมาชิก ขณะเดียวกัน กนศ.ได้ศึกษาถึงผลดี ผลเสียที่มีต่อไทย กรณีที่สหราชอาณาจักร เตรียมเข้าเป็นสมาชิกแล้วหรือไม่ รวมถึงกรณีที่สหรัฐฯอาจเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต เพราะคาดว่า จะกระทบต่อไทยมาก เพราะทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพการแข่งขันในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคบริการ และอำนาจต่อรองสูงอาจทำให้ซีพีทีพีพีกลายเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้น (ซีพีทีพีพี พลัส)
สำหรับประเด็นอ่อนไหวที่ไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร, ภาคบริการ จะเสียเปรียบมาก เพราะสมาชิกจะเข้ามาประกอบธุรกิจบริการในไทยมากกว่าที่ธุรกิจไทยจะไปลงทุนในประเทศสมาชิก, จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ธุรกิจของสมาชิก เข้ามาประมูลงานภาครัฐของไทยได้ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ถูกต่างชาติแย่งงาน ส่วนภาคเกษตรยิ่งเสียเปรียบ เพราะขาดเทคโนโลยี นวัตกรรมและจะทำให้สินค้าเกษตรจากทั้งแคนาดา และเม็กซิโก เข้ามาตีตลาดได้ และเกษตรกรไทยเสียหาย เป็นต้น
ทั้งนี้ จากประเด็นอ่อนไหวต่างๆทำให้เห็นว่า ไทยยังไม่ได้เตรียมความพร้อมใดๆเลย ดังนั้น การเข้าร่วมจะทำให้เสียประโยชน์มากกว่าได้ แม้กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่น่าจะเพียงพอ ขณะนี้ไทยควรเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆให้พร้อมรับการแข่งขันดีกว่า และการที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกช้ากว่าสหราชอาณาจักร น่าจะทำให้ไทยได้รับทราบข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสมาชิกมากขึ้น และทำให้ไทยกำหนดแนวทางการเจรจาต่อรองได้ดีขึ้น อีกทั้งควรทำเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศใหม่ๆ ดีกว่า.