CPTPP เข้าหรือไม่เข้าก็มีต้นทุนต้องจ่าย ควรทำอย่างไรให้ได้มาก-เสียน้อย

Economics

Thailand Econ

Tag

CPTPP เข้าหรือไม่เข้าก็มีต้นทุนต้องจ่าย ควรทำอย่างไรให้ได้มาก-เสียน้อย

Date Time: 25 มิ.ย. 2564 16:51 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • การเข้าร่วม CPTPP มีทั้งผลดีและผลเสีย มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน กับโจทย์ที่ทั้งใหญ่และยากนี้ รัฐบาลควรจะทำอย่างไรต่อไป ไทยรัฐออนไลน์ขอชวนพิจารณามิติต่างๆ ที่สำคัญ และข้อเสนอแนะต่อไปนี้

Latest


  • รัฐบาลไทยสนใจและมีความพยายามจะเข้าร่วม CPTPP มาหลายปีแล้ว แต่มีกระแสคัดค้านมาตลอดจึงทำให้ไทยยังไม่ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมภาคี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาครัฐมีการประชุมเรื่องนี้อีกครั้ง องค์กรและประชาชนที่คัดค้านจึงกำลังเฝ้าจับตามองไม่ให้รัฐบาลลักไก่เข้าร่วมในปีนี้
  • ข้อกำหนด-กฎเกณฑ์ต่างๆ ของ CPTPP มีทั้งส่วนที่ไทยได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่มีข้อเสนอแนะอีกว่า พิจารณาแค่ 2 มิตินั้นยังไม่พอ ต้องนำ ‘ต้นทุนจากการไม่เข้าร่วม’ มาพิจารณาเป็นมิติที่ 3 ที่สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากนั้น ข้อกำหนดหลายอย่างของ CPTPP ที่มีผู้คัดค้านก็เป็นกฎเกณฑ์สากลที่กำหนดในข้อตกลงการค้าอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แม้ไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ก็จะเจอข้อกำหนดคล้ายกันในข้อตกลงการค้าอื่นๆ
  • มีข้อเสนอแนะจาก KKP Research ว่า รัฐบาลควรทำอะไรบ้าง ทั้งก่อนตัดสินใจและหลังตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและส่งผลกระทบน้อยที่สุด


หนึ่งประเด็นร้อนในรอบสัปดาห์นี้คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อพิจารณาผลการศึกษารายละเอียดการเข้าร่วม ‘ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งตามกำหนดการ หลังจากประชุมแล้วจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับถัดไป

ประชาชนและองค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าเป็นภาคี CPTPP จึงออกมาประท้วงคัดค้าน และชวนให้ประชาชนทั่วไปตื่นตัวเฝ้าจับตามองเพื่อไม่ให้รัฐบาลลักไก่นำประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ในปีนี้ ทั้งที่ยังมีข้อถกเถียงและเสียงคัดค้านอยู่มาก

ฝ่ายที่ค้านการเข้าร่วมก็มีเหตุผล มีความกังวลถึงผลกระทบหลายข้อที่จะตามมา ซึ่งเป็นผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจต่อบุคคลรายย่อย ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนการเข้าร่วมก็มีเหตุผลมากมาย ซึ่งมองในมิติผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภาพใหญ่ระดับประเทศ

ไม่ว่าจะตัดสินใจทางไหนก็มีทั้งได้และเสีย เพียงแต่ว่าใครจะได้และใครจะเสีย?

กับโจทย์ที่ทั้งใหญ่และยากนี้ รัฐบาลควรจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้ได้มากกว่าเสีย และให้คนที่เสียต้องไม่ถูกปล่อยให้เจ็บตัว เราขอชวนมาพิจารณามิติต่างๆ ที่สำคัญ และข้อเสนอแนะต่อไปนี้

โอกาสและประโยชน์ที่คิดว่าจะได้


ปัจจุบัน CPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของ 11 ประเทศรวมกันคิดเป็น 13.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวมทั้งโลก และประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยัง 11 ประเทศนี้คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด

จีดีพีรวมของประเทศสมาชิก CPTPP จะเพิ่มขึ้นเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก หากสหราชอาณาจักรเข้าร่วมสำเร็จ และจะเพิ่มมากขึ้นอีกเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ หากอีกหลายประเทศที่แสดงความสนใจดำเนินการเข้าร่วมสำเร็จ บวกกับสหรัฐอเมริกาที่ถอนตัวออกไปกลับเข้าเป็นสมาชิกด้วย

หลายๆ ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจต่างๆ ประเมินตรงกันว่าโอกาสหรือประโยชน์ที่ประเทศไทยน่าจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP มี 3 ด้านใหญ่ๆ คือ

1. ด้านการส่งออก การเป็นสมาชิก CPTPP จะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะ 2 ประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย คือ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วน 1.8 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมดของไทย สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยัง 2 ประเทศนี้และจะส่งออกได้ดีมากขึ้นคือ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

2. ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ การเป็นสมาชิก CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษในการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก อุตสาหกรรมไทยที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการลงทุนจากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น

3. ด้านความสามารถทางการแข่งขัน การปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน การอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเป็นผลบวกต่อไทยในระยะยาว

แต่ถ้ามองในระยะสั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่ความเห็นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ว่า หากไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ก็อาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกมากนัก เนื่องจากไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ความสามารถทางการแข่งขันกำลังถดถอย


ความเสี่ยง ข้อกังวล ประโยชน์ที่อาจจะเสีย


การเจรจาข้อตกลงการค้าย่อมไม่มีใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว หากไทยเข้าร่วม CPTPP ก็จะทำให้ไทยเสียประโยชน์บางด้าน จึงเป็นเหตุผลที่ยังมีข้อถกเถียงและผู้คัดค้านอยู่เป็นจำนวนมาก

ประชาชนและองค์กรที่คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP มีข้อกังวลถึงผลกระทบหรือประโยชน์ที่ไทยจะเสียไปหลักๆ 3 ด้าน คือ เกษตร ยา และค่าธารณูปโภค ดังนี้ 

1. ข้อกังวลว่าไทยจะเสียประโยชน์ด้านเกษตรกรรมและพันธุ์พืช เนื่องจากสมาชิก CPTPP จะต้องเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Convention for Protection of New Varieties of Plants: UPOV) ที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่ปรับปรุงจากพันธุ์พืชเดิม

อนุสัญญานี้เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาตินำเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นไปปรับปรุงพัฒนา และจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชที่พัฒนาใหม่ จึงมีความกังวลว่าพันธุ์พืชท้องถิ่นจะต้องกลายเป็นของนายทุนต่างชาติ เกษตรกรต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตปลูกพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ เหล่านั้น และเมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกแล้ว ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองรุ่นต่อรุ่นได้เหมือนในอดีต ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกพืชสูงขึ้น และส่งผลไปถึงปลายน้ำ คือราคาอาหารแพงขึ้น

2. ยาจะราคาสูงขึ้น ข้อกังวลนี้เกิดขึ้นมาเนื่องจากความไม่ชัดเจนว่า CPTPP จะยังอนุญาตให้ใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing: CL) หรือที่เรียกว่า ‘การทำ CL ยา’ ได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ คนไทยก็จะต้องซื้อยาในราคาแพงขึ้น

3. ยาชื่อสามัญที่คนทั่วไปเข้าถึงได้จะออกสู่ตลาดช้า เนื่องจากความตกลง CPTPP มีการขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิที่เกี่ยวข้องจาก 50 ปี เป็น 70 ปี และกำหนดให้มีการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา ทำให้การขอขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญโดยบริษัทที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาทำได้ช้ากว่าที่เคยทำได้

4. ข้อกังวลว่าค่าน้ำ ค่าไฟ จะแพงขึ้น เนื่องจาก CPTPP มีข้อกำหนดไม่ให้รัฐบาลอุดหนุนหรือให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจ เพื่อไม่ให้รัฐวิสาหกิจได้เปรียบธุรกิจเอกชน แต่สำหรับข้อนี้ ผลกระทบอาจจะไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เนื่องจาก CPTPP ได้ยกเว้นการดำเนินกิจการด้านบริการสาธารณะ หมายความว่าในบริการกลุ่มที่มีความจำเป็นต่อประโยชน์ของประเทศยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐต่อไปได้

ถ้าโฟกัสเฉพาะส่วนผลกระทบต่อภาคธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ธุรกิจไทย 2 ภาคธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP คือ

1. ธุรกิจบริการจะเผชิญการแข่งขันที่ยากขึ้น เนื่องจากสำหรับภาคบริการ CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนหมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น ผู้ประกอบการชาวไทยอาจจะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ

2. อุตสาหกรรมเกษตรจะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดาที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า และอย่างที่มีข้อกังวลและคาดการณ์ว่า การที่ CPTPP มีข้อบัญญัติให้สมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ที่เปิดโอกาสให้ต่างชาตินำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ จะส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกรอบการเพาะปลูก ทำให้ต้นทุนการเกษตรสูงขึ้น


การไม่เข้าร่วมก็มี ‘ต้นทุน’


นอกจาก 2 มิติหลักในการพิจารณาชั่งน้ำหนัก คือ 1. ประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าร่วม ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าประโยชน์ที่จะได้นั้นมีน้อย เพราะไทยมีข้อตกลงทางการค้ากับประเทศสมาชิก CPTPP อยู่เกือบครบทุกประเทศแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเข้าร่วม และ 2. ผลกระทบหรือผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วม

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้ว่าควรนำ ‘ต้นทุนจากการไม่เข้าร่วม CPTPP’ มาพิจารณาเป็นมิติที่ 3 ที่สำคัญไม่แพ้กัน

ต้นทุนที่ไทยจะต้องจ่ายหากไม่เข้าร่วม CPTPP จากการประเมินของ KKP Research มี 3 ข้อ ดังนี้

1. ไทยจะเจอกับผลกระทบด้านลบต่อทั้งเศรษฐกิจ การส่งออก รวมทั้งผลตอบแทนต่อผู้ประกอบการและแรงงานจะลดลง มีตัวเลขจากงานวิจัยที่ว่า การไม่เข้าร่วมจะทำให้จีดีพีของไทยลดลง 0.6 เปอร์เซ็นต์ และการส่งออกลดลง 0.19 เปอร์เซ็นต์ จากที่เติบโตต่ำอยู่แล้ว

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ไทยจะเสียโอกาสที่จะเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP คือ สินค้าหมวดยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล ยาง ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมกัน 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,912,200 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 23.8 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

“อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าประเทศไทยยังขาดการบังคับใช้กฎหมายกำกับการแข่งขันทางการค้าเพื่อป้องกันการผูกขาดอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความอ่อนแอด้านกฎระเบียบของไทยเองที่อาจทำให้ผลประโยชน์จากการค้าเสรีตกอยู่กับกลุ่มทุนผูกขาดบางกลุ่ม และไม่กระจายมาถึงประชาชน” KKP Research แสดงความเห็น

2. บริษัททุนต่างชาติอาจย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เพราะประเทศคู่แข่งมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนและการเข้าถึงตลาดจากข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในแง่นี้แล้ว เนื่องจากในระยะหลังไทยไม่ค่อยมีการทำข้อตกลงการค้าใหม่ๆ จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติให้ความสนใจไทยลดน้อยลง

KKP Research มองว่าหากไทยยังไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้ไทยยิ่งถูกทิ้งห่างและอาจเป็นแรงผลักให้ทุนญี่ปุ่นอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากไทย และหากสหรัฐอเมริกากลับเข้าร่วม CPTPP จะยิ่งทำให้ไทยเสียเปรียบสมาชิก CPTPP มากยิ่งขึ้น มีความเสี่ยงที่บริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตออกจากไทย ซึ่งจะกระทบต่อรายได้และการจ้างงานอย่างมหาศาล

เมื่อคำนวณต้นทุนจากการไม่เข้าร่วม CPTPP ในแง่การย้ายฐานการผลิตจะมีผลกระทบที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิก CPTPP และมีการลงทุนทางตรงในไทยอยู่ในสัดส่วนสูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งหมด

การย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นออกจะทำให้เกิดต้นทุนในหลายมิติ โดยเฉพาะในภาคการผลิตอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดรายได้ที่ใหญ่กว่าภาคเกษตรมากและมีจำนวนแรงงานกว่า 6 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของภาคเกษตร

“จะเห็นว่าแม้การเข้าร่วมจะมีความเสี่ยงที่ภาคเกษตรจะถูกกระทบ แต่การไม่เข้าร่วมก็เพิ่มความเสี่ยงขนาดมหาศาลให้กับเศรษฐกิจในภาคการผลิตที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในแง่รายได้ และการจ้างงานเช่นกัน” KKP Research ชี้ให้ให้เห็นความเสี่ยงทั้ง 2 ด้าน

3. ไทยจะเสียโอกาสในการปรับตัวสู่กฎระเบียบใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่ประเทศคู่แข่งเริ่มมีกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบเหล่านี้แล้ว


แม้ไม่เข้า CPTPP ก็ต้องเจอกฎเกณฑ์คล้ายกันในข้อตกลงอื่นๆ


ข้อตกลงทางการค้าเสรี (Free trade agreement: FTA) เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางการค้า แต่ก็มาพร้อมกฎระเบียบข้อบังคับมากมาย ซึ่งทุกประเทศที่เข้าร่วมภาคีจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบและบังคับใช้ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

KKP Research ชี้ให้พิจารณาข้อมูลว่า ข้อกำหนดของ CPTPP หลายข้อที่ถูกคัดค้านไม่ได้มีเฉพาะใน CPTPP แต่ข้อตกลงทางการค้าสมัยใหม่อื่นๆ ก็มีข้อกำหนดคล้ายกัน หลายประเทศพัฒนาแล้วก็ใช้ข้อตกลง CPTPP เป็นพื้นฐานของกฎระเบียบในการเจรจาความตกลงทางการค้า สะท้อนว่าข้อตกเหล่านี้เป็นข้อตกลงทางการค้าสมัยใหม่ที่ต้องการปฏิรูปกฎระเบียบด้านต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และจะถูกใช้เป็นมาตรฐานในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศอีกจำนวนมากในช่วงหลังจากนี้

ยกตัวอย่างเช่น ข้อตกลง UPOV ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกแล้ว 77 ประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ สะท้อนว่าหากไทยต้องการมีข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว ก็หลีกเลี่ยงข้อตกลงเหล่านี้ไม่ได้ หากไทยต้องการทำข้อตกลงการค้ากับอังกฤษ สหภาพยุโรป และแคนาดา ก็จะถูกบังคับในกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากลชุดเดียวกัน

ตารางเปรียบเทียบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ในข้อตกลงทางการค้าต่างๆ (ภาพจากรายงานของ  KKP Research)
ตารางเปรียบเทียบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ในข้อตกลงทางการค้าต่างๆ (ภาพจากรายงานของ KKP Research)


ในความเห็นของ KKP Research มองว่าการไม่รับข้อกำหนดใหม่เหล่านี้อาจหมายถึงไทยแทบจะไม่สามารถทำข้อตกลงการค้าใหม่กับประเทศอื่นได้เลย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า มาตรฐานที่สูงของ CPTPP จะเป็นมาตรฐานสำหรับการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกที่มีความสำคัญมาก

“ดังนั้น ไม่ว่าไทยจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ในอนาคตไทยก็คงไม่สามารถเลี่ยงการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับมาตรฐานเหล่านี้ได้ ซึ่งในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ภาครัฐจำเป็นต้องขบคิดถึงประเด็นเชิงสังคมเหล่านี้ รวมถึงการเร่งพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงที่สุดจากการเจรจาการค้าเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และให้เกิดผลกระทบเชิงสังคมน้อยที่สุดด้วย”


รัฐบาลควรทำอย่างไรให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด


KKP Research ประเมินว่า ผลกระทบทางลบมีโอกาสเกิดขึ้นกับบางกลุ่มธุรกิจ แม้กฎหลายข้อสามารถเจรจาต่อรองก่อนเข้าร่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบลงได้ แต่ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความใส่ใจ เยียวยา และเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่เป็นประเด็นถกเถียงในปัจจุบัน

“หากรัฐต้องการเข้าร่วม CPTPP ต้องมีการประเมินผลเหล่านี้อย่างรอบด้าน ให้ความใส่ใจกับกลุ่มคนที่จะเสียประโยชน์มากกว่าในปัจจุบัน และรัฐต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง แม้กฎหลายข้อจะสามารถเจรจาขอผ่อนผันให้มีการบังคับใช้ช้าลงได้ แต่ท้ายที่สุดจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการบางกลุ่มไม่มากก็น้อย”

หนึ่งในประเด็นที่คนกังวลมากที่สุด คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ในประเด็นนี้ KKP Research มองว่า หากภาครัฐไม่มีการปรับปรุงฐานข้อมูลพันธุ์พืชที่ดีก่อนการเข้าร่วม ความกังวลเรื่องการถูกขโมยพันธุ์พืชไปขึ้นทะเบียนโดยต่างชาติก็อาจสามารถเกิดขึ้นได้จริง และเราจะขาดหลักฐานในการพิสูจน์ว่าพันธุ์พืชนั้นเป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นของเรา ยิ่งไปกว่านั้นการลดกำแพงภาษีกับต่างประเทศย่อมทำให้การแข่งขันในสินค้าเกษตรสูงขึ้น และอาจทำให้เกษตรกรรายย่อยในไทยไม่สามารถแข่งขันได้

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังขาดนโยบายที่ช่วยพัฒนาผลิตภาพของเกษตรกรอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และขาดฐานข้อมูลเรื่องพันธุ์พืช ต่างจากในหลายประเทศที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับภาคเกษตรอย่างจริงจัง จึงได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP น้อยกว่ากรณีของไทย

“ผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถ ประสิทธิภาพ และความตั้งใจในการดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประชาชน” KKP Research สรุป 

KKP Research ประเมินและเสนอแนะด้วยว่า มี 3 ประเด็นที่รัฐต้องเร่งดำเนินการเพื่อนำผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมาสู่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นกลไกในลักษณะเดียวกับที่ทำในต่างประเทศ ได้แก่

1. สื่อสารและให้ข้อมูลกับทุกภาคส่วนอย่างตรงไปตรงมา และจัดพื้นที่ให้มีการต่อรอง ถกเถียง ระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์อย่างเปิดเผยและเป็นธรรม

2. หากรัฐพิจารณาและตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP รัฐต้องสร้างประโยชน์จากการเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด และหาทางลดผลกระทบทางลบให้ได้มากที่สุด ภาครัฐต้องทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ โดยนำประโยชน์จากกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มาเยียวยากลุ่มคนที่เสียประโยชน์ และรัฐต้องเตรียมความพร้อมระยะยาว เช่น นโยบายเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร นโยบายป้องกันการผูกขาดจากกลุ่มทุน ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติ และผลประโยชน์กระจายสู่คนทุกกลุ่มได้มากที่สุด

3. มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมก่อนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กฎระเบียบใหม่ตาม CPTPP หลายประเทศขอยืดการใช้กฎเกณฑ์บางข้อออกไป เพื่อเพิ่มเวลาในการเตรียมพร้อมและปรับตัวรับผลกระทบที่จะเกิดต่ออุตสาหกรรมในประเทศ และปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อกำหนด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านกฎหมายของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ

“...ประเทศที่ตกลงเข้าร่วม CPTPP แล้วล้วนเคยผ่านการประท้วงจากผู้ที่เสียประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศมีการประเมินผลกระทบและเปิดเผยข้อมูลรอบด้าน มีกระบวนการเจรจาเพื่อหาแนวนโยบายชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมก่อนที่จะตกลงเข้าร่วม CPTPP ในกรณีของไทยกระบวนการเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น ภาครัฐต้องมีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจกับประชาชน ท้ายที่สุดการตัดสินใจจะต้องเปรียบเทียบผลดี ผลเสียเหล่านี้อย่างรอบด้าน และเลือกทางเลือกที่นำผลประโยชน์สูงสุดมาสู่ประเทศ”

คือข้อเสนอแนะที่ตรงไปตรงมาจากคณะนักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ของ KKP Research ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อคณะทำงานของรัฐ.


Author

รุ่งนภา พิมมะศรี

รุ่งนภา พิมมะศรี
คุ้นเคยกับการเล่าเรื่องราวของมหาเศรษฐี แต่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนธรรมดามากกว่า