กระทรวงพาณิชย์ ชู 16 มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2564

Economics

Thailand Econ

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

กระทรวงพาณิชย์ ชู 16 มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2564

Date Time: 16 มิ.ย. 2564 06:01 น.
Content Partnership

Summary

  • พาณิชย์ เดินหน้าลุย 16 มาตรการ หวังยกระดับการบริหารจัดการผลไม้ปี 64 ให้มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกได้เพิ่มขึ้น

พาณิชย์ เดินหน้าลุย 16 มาตรการ หวังยกระดับการบริหารจัดการผลไม้ปี 64 ให้มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกได้เพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานการขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผลผลิตผลไม้ สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย ลองกอง ฯลฯ ที่ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ในปี 2563 ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกไม่น้อยกว่า 127,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 13,000 ล้านบาท

“ปีที่ผ่านมา แม้ว่ามีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จากการทำงานหนักของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับพันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการบริหารจัดการผลไม้ล่วงหน้า และแก้อุปสรรคด้านการส่งออก ส่งผลให้ไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้นกว่า 11% และที่สำคัญชาวสวนขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้”

ดังนั้น ในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดมาตรการดำเนินการไว้แล้วทั้งสิ้น 16 มาตรการ เพื่อรองรับผลผลิตของผลไม้สำคัญ ที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ราว 15%

สำหรับ 16 มาตรการดังกล่าว ได้แก่ 1.เร่งดำเนินการตรวจและรับรอง GAP (Good Agricultural Practices หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) เป้าหมายไม่น้อยกว่า 120,000 แปลง 2.ผ่อนปรนกฎระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่เก็บผลไม้ 3.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สนับสนุนกำลังพลช่วยเก็บเกี่ยว และขนย้ายผลไม้ เช่น ลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

4.ส่งเสริมการรวบรวมรับซื้อผลไม้ เพื่อเชื่อมโยงกระจายออกนอกแหล่งผลิต เป้าหมาย 66,600 ตัน 5.สนับสนุนให้มีรถเร่ไปรับซื้อผลไม้ เพื่อนำไปขายให้ผู้บริโภค เป้าหมาย 4,000 ตัน 6.สนับสนุนค่าขนส่ง สำหรับผลไม้ที่ส่งขายผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ปริมาณ 2,000 ตัน 7.เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลไม้ไปวางขายได้ฟรี ผ่านตลาดกลาง ตลาดสด สนามบิน ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างท้องถิ่น สถานีบริการน้ำมัน

8.เร่งรัดผลักดันส่งออกผลไม้ โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ส่งออกกิโลกรัม (กก.) ละ 5 บาท เป้าหมาย 60,000 ตัน และชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้าผลไม้ เป้าหมาย วงเงินกู้รวม 3,330 ล้านบาท 9.ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) โดยทำสัญญาข้อตกลงมาตรฐาน ให้เกษตรกรขายผลไม้ได้ เป้าหมาย 20,000 ตัน 10.ผู้โดยสารทุกสายการบิน สามารถโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินได้ฟรี 25 กก.

11.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าผลไม้ online โดยจัดอบรมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ความรู้วิธีการวางจำหน่ายผลไม้บนแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ เช่น Thailandpostmart.com, Lazada, Shopee เป็นต้น 12.ส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ โดยจัดงานนานาชาติ THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 จัดกิจกรรม Thai Fruit Golden Months ใน 14 เมืองของจีน นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ เป็นต้น

13.ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ โดยจับคู่เจรจาธุรกิจ Online ผู้ประกอบการ 40 บริษัท ผู้นำเข้า 170 บริษัททั่วโลก จับคู่เจรจาธุรกิจ Online โดยทูตพาณิชย์ของไทยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ย.2564 จัดงานประชาสัมพันธ์สินค้าและผลไม้ไทย ร่วมกับห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น เช่น อินเดีย ช่วงเดือนมิ.ย.2564

14.ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid line) โดยจัดกิจกรรม Mirror & Mirror ขายผลไม้ไทยภายในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เป้าหมายมากกว่า 7 ครั้ง ในตลาดส่งออกผลไม้สำคัญๆ ของไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เอเชียใต้ (อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน) เป็นต้น 15.ประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย โดยจัดทำสื่อ 5 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี

16.กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และจริงจัง เพื่อไม่ให้ผู้รับซื้อผลไม้เอารัดเอาเปรียบชาวสวน เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยจะกำหนดให้ล้ง (ผู้รับซื้อ รวบรวม และส่งออกผลไม้) ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ และซื้อในราคาตามป้าย พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด โดยจะตรวจสอบเครื่องชั่งตามสถานที่รับซื้อ ไม่ให้มีการดัดแปลง หรือโกงตาชั่งเอาเปรียบชาวสวน รวมถึง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องปรามการใช้อำนาจผูกขาดโดยไม่ชอบทางการค้า การฮั้ว และการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

“จากมาตรการดังกล่าว มั่นใจว่า จะทำให้การบริหารจัดการผลไม้ปีนี้มีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมถึงจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกผลไม้ได้เพิ่มขึ้นแน่นอน”


Author

Content Partnership

Content Partnership