แจงมาตรการเยียวยาประชาชน หลังถูกวิจารณ์คนยากจนได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แจงมาตรการเยียวยาประชาชน หลังถูกวิจารณ์คนยากจนได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่า

Date Time: 15 มิ.ย. 2564 10:49 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • "คลัง" แจงมาตรการเยียวยาประชาชน หลังเจอข้อวิจารณ์ คนยากจนได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่า ยันโครงการรัฐฯ ถูกออกแบบมา เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง ทั้งลดภาระค่าครองชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจ

Latest


"คลัง" แจงมาตรการเยียวยาประชาชน หลังเจอข้อวิจารณ์ คนยากจนได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่า ยันโครงการรัฐฯ ถูกออกแบบมา เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง ทั้งลดภาระค่าครองชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจ 

จากกรณีที่มีข้อวิจารณ์มาตรการเยียวยาประชาชนว่าคนที่เดือดร้อนมาก หรือคนยากจนได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่าคนที่เดือดร้อนน้อยหรือคนไม่ยากจนนั้น

กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพจ "สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station" ระบุว่า ที่ผ่านมา การให้สวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งครอบคลุมประชากร จำนวนกว่า 13.65 ล้านคน โดยเริ่มมีการให้สวัสดิการตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งแบ่งเป็นสวัสดิการหลัก

ได้แก่ บรรเทาค่าครองชีพ (วงเงินสิทธิค่าอุปโภค/บริโภค จำนวน 200 บาท/คน จำนวนประมาณ 3.6 ล้านคน และ 300 บาท/คน จำนวนประมาณ 10 ล้านคน) บรรเทาค่าเดินทาง ได้แก่ ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า (500 บาท/คน/เดือน) ค่า บขส. (500 บาท/คน/เดือน) ค่ารถไฟ (500 บาท/คน/เดือน) ค่าก๊าซหุงต้ม (45 บาท/คน/3 เดือน) ค่าน้ำประปา (100 บาท/ครัวเรือน/เดือน) ค่าไฟฟ้า (230 บาท/ครัวเรือน/เดือน) และสวัสดิการอื่นๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายปลายปี 2561 จำนวน 500 บาท ค่าใช้จ่ายปลายปี 2562 สำหรับผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จำนวน 500 บาท สำหรับผู้มีบุตร จำนวน 300 บาท สำหรับคนพิการ จำนวน 200 บาท ผ่านช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) โดยรวมแล้วผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการหลักกว่า 2,000 บาทต่อเดือน

- ในการเยียวยาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้มีการเพิ่มเติมวงเงิน (Top up) ค่าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มจากปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มวงเงินสิทธิให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้แก่ (1) ตั้งแต่ตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564 โดยเพิ่มให้ 500 บาทต่อคน ระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นวงเงินสิทธิ 3,000 บาทต่อคน ภายใต้โครงการเพิ่มกำลังซื้อระยะที่ 1 และ 2 และ (2) ช่วงกุมภาพันธ์ เป็นต้นมาเพิ่มเติมสิทธิวงเงินอีก 7,400/7,600 บาท ต่อคน ภายใต้โครงการเราชนะ ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ถึงมิถุนายน 2564

- สำหรับมาตรการลดภาระค่าครองชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในโครงการเพิ่มกำลังซื้อ ระยะที่ 3 ที่กำลังจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นการเพิ่มสิทธิวงเงินจำนวน 200 บาทต่อคน ระยะเวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาทต่อคน สามารถนำไปใช้จ่ายได้ที่ร้านค้าธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โดยไม่มีเงื่อนไขที่ประชาชนจะต้องใช้จ่ายเงินของตัวเองเพื่อให้ได้รับสิทธิ

ดังนั้น ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมจากรัฐในช่วงการระบาดของโรคโควิด รวมเป็นเงินกว่า 11,600 หรือ 11,800 บาทต่อคน

ส่วนโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อ ไม่เกิน 4 ล้านคน ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีการเติมเงินของตนเองเข้า G-wallet ก่อน เพื่อไปใช้จ่ายกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการซึ่งจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงจะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher)

และการที่จะได้รับ e-Voucher จำนวน 7,000 บาทต่อคน ประชาชนต้องมีการใช้จ่ายเงินตนเองเป็นจำนวน 60,000 บาทต่อคน ในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2564 ซึ่งหากมีการใช้จ่ายจริง 1-40,000 บาทแรก ก็จะได้รับ e-Voucher คืนร้อยละ 10 หรือไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน หรือ 40,001-60,000 บาท ก็จะได้รับ e-Voucher คืนร้อยละ 15 หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน และต้องใช้จ่าย e-Voucher ที่ได้รับภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้

ทั้งนี้ หากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้จำนวน 4 ล้านคน ใช้จ่ายเต็มสิทธิ จะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 240,000 ล้านบาท และเมื่อประชาชนมีการนำ e-Voucher กลับมาใช้ก็จะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีก 28,000 ล้านบาท รวมเป็น 268,000 ล้านบาท

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า โครงการของรัฐบาลถูกออกแบบมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ทั้งเพื่อการบรรเทาภาระค่าครองชีพ และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มเป้าหมาย และวิธีการสนับสนุนมีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ