ดึงต่างชาติเข้าไทยสะดุด รุมค้านข้อเสนอให้เสียภาษีเงินได้คงที่ 17%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดึงต่างชาติเข้าไทยสะดุด รุมค้านข้อเสนอให้เสียภาษีเงินได้คงที่ 17%

Date Time: 8 มิ.ย. 2564 06:01 น.

Summary

  • มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติเข้าไทย 1 ล้านคนสะดุด! หลังชงข้อเสนอเข้า ศบศ. ให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในไทยอัตราคงที่ 17% ต่ำกว่าที่คนกลุ่มอื่นเสียสูงสุด 35% รอ “สุพัฒนพงษ์” หาข้อสรุป

Latest

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ


มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติเข้าไทย 1 ล้านคนสะดุด! หลังชงข้อเสนอเข้า ศบศ. ให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในไทยอัตราคงที่ 17% ต่ำกว่าที่คนกลุ่มอื่นเสียสูงสุด 35% รอ “สุพัฒนพงษ์” หาข้อสรุป ทำ “นายกฯ” หงุดหงิด มาตรการไม่คืบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่าแม้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นด้วยในหลักการของข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ ที่มี ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธาน และ ศบศ.ยังอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ ศบศ.ได้สั่งการให้นายสุพัฒนพงษ์ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอ ศบศ.อีกครั้ง ทั้งๆที่เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธาน ศบศ.ได้สั่งการให้จัดทำมาหลายเดือนแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ รู้สึกหงุดหงิดกับเรื่องดังกล่าว

สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องกลับไปหารือเพิ่มเติม คือข้อเสนอที่ให้คิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับกลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการดึงเข้ามาในไทย จากรายได้ที่เกิดขึ้นในไทย ในอัตราคงที่ 17% ซึ่งประเด็นนี้ถกเถียงกันเพราะอัตรา 17% ต่ำกว่าอัตราจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศที่จัดเก็บสูงสุด 35%

ขณะเดียวกัน วาระการพิจารณาข้อเสนอมาตรการดังกล่าวยังเกี่ยวพันกับวาระอื่น ทำให้ข้อเสนอในวาระอื่นไม่ได้รับการอนุมัติเพื่อนำเสนอ ครม.และต้องไปหารือเพิ่ม คือมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ภายใต้โครงการ “อีลิท ฟริกซิเบิล พลัส โปรแกรม” ที่เสนอโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องจากเป็นเรื่องการดึงคนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเหมือนกัน ทั้งที่โครงการของกระทรวงการท่องเที่ยวนั้น ศบศ.อนุมัติหลักการไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.63 โดยโครงการนี้จะให้ชาวต่างชาติที่นำเงินมาลงทุนในไทย 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือบริษัท สามารถขอใบอนุญาตทำงานในไทยได้ ตั้งเป้าหมายไว้ 10,000 ราย นำรายได้เข้าประเทศ 300,000 ล้านบาท

สำหรับข้อเสนอ ที่ ม.ล.ชโยทิต นำเสนอนั้น ตั้งเป้าหมายดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศไทย 4 กลุ่ม จำนวน 1 ล้านราย จะเกิดการใช้จ่ายในประเทศจากคนกลุ่มนี้ 1 ล้านล้านบาท จะเกิดการลงทุนในประเทศ 800,000 ล้านบาท มีรายได้ทางภาษีเพิ่มขึ้น 250,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยจะให้วีซ่าคนกลุ่มนี้ 10 ปี ได้รับอนุญาตทำงานโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ คิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในไทยในอัตราคงที่ 17% ได้สิทธิ์เป็นเจ้าของ หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว รวมที่ดิน ประกอบด้วย 1.ประชากรที่มีความมั่งคั่งสูง ต้องลงทุนขั้นต่ำ 500,000 เหรียญฯในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือในอสังหาริมทรัพย์ และมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 80,000 เหรียญฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีประกันสุขภาพ คุ้มครองค่ารักษา 100,000 เหรียญฯขึ้นไป 2.ผู้เกษียณอายุ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ลงทุนขั้นต่ำในไทย 250,000 เหรียญฯมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 40,000-80,000 เหรียญฯ มีประกันสุขภาพ คุ้มครองค่ารักษา 100,000 เหรียญฯขึ้นไป 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย มีรายได้ขั้นต่ำปีละ 80,000 เหรียญฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีประกันสุขภาพ คุ้มครองค่ารักษา 100,000 เหรียญฯขึ้นไป และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ มีรายได้ปีละ 80,000 เหรียญฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีประกันสุขภาพ คุ้มครองค่ารักษา 100,000 เหรียญฯขึ้นไปตลอดระยะเวลาถือวีซ่า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ