รัฐ - เอกชน ชี้เทรนด์ลงทุนโรงงานแห่งอนาคต

Economics

Thailand Econ

ข่าวประชาสัมพันธ์

Author

ข่าวประชาสัมพันธ์

Tag

รัฐ - เอกชน ชี้เทรนด์ลงทุนโรงงานแห่งอนาคต

Date Time: 12 เม.ย. 2564 06:01 น.

Summary

  • สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ชี้เทรนด์ลงทุนเทคโนโลยีเพื่อยกระดับกระบวนการก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ในช่วงโควิด-19 แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคน

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ชี้เทรนด์ลงทุนเทคโนโลยีเพื่อยกระดับกระบวนการก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ในช่วงโควิด-19 แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคน ภาครัฐร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการยกระดับสู่โรงงานแห่งอนาคต เตรียมพบเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในงาน ‘FACTECH’ งานแสดงสินค้านวัตกรรมก่อสร้าง โซลูชั่นยกระดับโรงงานอัจฉริยะหนึ่งเดียวในอาเซียน 23 – 26 มิถุนายนนี้ ที่ไบเทค บางนา

คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ FACHTECH VIRTUAL CONFERENCE 2021 “โรงงานไทยยุคใหม่กับเทรนด์การก่อสร้างแห่งอนาคต” จัดโดยบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปรับตัวเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น อย่างในสหรัฐอเมริกามีการลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว สำหรับในประเทศไทยอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในปี 2563 ที่ผ่านมา เท่ากับมูลค่าการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการกระบวนการก่อสร้าง เพื่อประหยัดเวลา และประหยัดการใช้แรงงานคน โดยเฉพาะ Smart Solutions และนวัตกรรมใหม่ เช่น ระบบ IOT ที่จะนำมาใช้เพื่อช่วยลดความสูญเสีย ลดระยะเวลาในการทำงาน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

คุณเอื้อมพร ปัญญาใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในกลุ่มวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนอย่างรุนแรง ระบบการขนส่งมีปัญหา ทำให้ต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในการกระบวนการผลิต การขนส่ง โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และสุขอนามัยเป็นอันดับแรก ซึ่งในระยะยาว มาตรฐานการดำเนินการต่างๆ ยังถูกนำไปใช้และเป็นแนวปฏิบัติ รวมถึงการมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า

สำหรับเทรนด์ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้าง มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เทคโนโลยี 3D พริ้นติ้ง ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกวัตถุดิบที่เหมาะสม และหลากหลาย ซึ่งในอนาคตต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงผู้บริโภค และต้องปรับตัวจากผู้ผลิตไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น

คุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ Head of Enterprise Marketing Management Unit บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ในต่างประเทศ มีเคสตัวอย่างที่นำระบบ 5G มาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจำนวนมาก ทั้งในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ กระบวนการผลิต รวมไปถึงระบบหลังการก่อสร้าง ทั้ง Smart Building และ Smart City รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดกระบวนการที่ทำให้เกิดของเสีย รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม

“ในประเทศไทย ช่วงโควิด-19 ที่เกิดขึ้น มีการทำยูสเคส 5G ในพื้นที่อุตสาหกรรม EEC ซึ่งวิศวกรชาวญี่ปุ่น ไม่สามารถเดินทางมาที่ Site งานได้ จึงใช้ระบบ 5G ในการเชื่อมต่อ เพื่อติดต่อประสานงานเพื่อทำให้การก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งในอนาคตระบบ 5G ยังสามารถนำมาพัฒนาสินค้า และนวัตกรรมบริการต่างๆ ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้” คุณนวชัยระบุ

คุณกัมปนาท รุ่งเรืองชัยศรี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมโรงงาน (กทส.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม มุ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry หรือ GI) ที่ต้องคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกรมโรงงานฯ จะยกระดับมาตรฐาน GI ของผู้ประกอบการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากผ่านมาตรฐานการรับรอง GI จะได้รับมอบตราสัญลักษณ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปขอตราสัญลักษณ์ Thailand Trade Mark ได้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้โดยตรงที่อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ

คุณพัลลภ บุญศิริ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ประกอบการไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า บีโอไอ มีมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หรือไม่ได้รับการส่งเสริม มาขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้เพิ่มเติม ในกรณีที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทน 2.การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยนำหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติมาใช้ 3.การวิจัยและพัฒนา การออกแบบทางวิศวกรรม 4.การยกระดับสู่มาตรฐานสากล และ 5.การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการผลิต

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริม จะได้รับสิทธิประโยชน์ โดยยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำมาปรับปรุง และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี วงเงินร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน แต่ถ้านำระบบอัตโนมัติที่ออกแบบในประเทศมาใช้ เกินร้อยละ 30 ของวงเงินลงทุน จะได้รับยกเว้นภาษีร้อยละ 100 โดยหากเป็นผู้ประกอบการ SMEs กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท จากปกติต้องลงทุน 1 ล้านบาท ผู้สนใจยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ได้ ภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2566

เตรียมพบกับงานแฟ็กเทค 2021 (FACTECH) งานแสดงสินค้าหนึ่งเดียวในอาเซียนที่รวบรวมเทคโนโลยีและผู้ให้บริการที่พร้อมตอบสนองความต้องการยกระดับโรงงานสู่มาตรฐานสากล ด้วยโซลูชั่นและบริการเพื่อพัฒนาการระบบโรงงานรอบด้าน ระบบไฟและไฟฟ้า ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ระบบรักษาความปลอดภัยและไอที รวมไปถึงโซลูชั่นเพื่อการก่อสร้างและบำรุงรักษา จัดพร้อมกับงานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2021 งานแสดงเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตและสนับสนุน ระหว่างวันที่ 23 – 26 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนา


Author

ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวประชาสัมพันธ์